เปิดไทม์ไลน์ “หุ้นไทย” ซื้อขายทะลุแสนล้าน! ปี 63 ฟาด 22 ครั้ง

เปิดไทม์ไลน์ "หุ้นไทย" ซื้อขายทะลุแสนล้าน! ปี 63 ฟาด 22 ครั้ง


ปี 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวน ดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุดของปีที่ 1,024.46 จุด และทำจุดสูงสุดของปีที่ระดับ 1,600.48 จุด คิดเป็นกรอบการเคลื่อนตัวถึง 576.02 จุด และมูลค่าการซื้อขายในระหว่างวันมีเข้ามาอย่างหนาแน่น ถือเป็นปีที่มีการซื้อขายสูงแตะระดับ 1 แสนล้านบาท มากที่สุดปีหนึ่ง เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่าการซื้อขายแตะระดับ 1 แสนล้านบาทเพียง 3 ครั้ง

ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจและรวบรวมสถิติวันที่ดัชนีหุ้นไทยในปี 2563 มีมูลค่าการซื้อ-ขายโดดเด่นระดับ 1 แสนล้านบาท เพื่อมานำเสนอ โดยพบว่ามีทั้งสิ้น 22 วัน ดังตารางประกอบ

เดือนมีนาคม 2563 พบว่ามีวันที่มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึงระดับ 1 แสนล้าน 3 วัน เนื่องจากเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงเป็นเดือนแรก โดยวันที่มีการซื้อขายสูงสุด ได้แก่

– วันที่ 9 มี.ค.63

ดัชนีฯปิดที่ระดับ 1,255.94 จุด ลดลง 108.63 จุด หรือ 7.96% มูลค่าการซื้อขาย 103,623.75 ล้านบาท โดยดัชนีฯปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ดัชนีฯอยู่ที่ระดับ 1,245.61 จุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2559 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายทำจุดสูงสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ระดับ 1.07 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงไปอย่างมาก จากกรณีที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียไม่สามารถตกลงกันได้ในการประชุมร่วมกันของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรเพื่อลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียประกาศลดราคาขายและเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบโต้รัสเซีย

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศร่วมกันขายหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 16,715.65 ล้านบาท

– วันที่ 12 มี.ค.63

ดัชนีฯปิดที่ระดับ 1,114.91 จุด ลดลง 134.98 จุด หรือ 10.80% มูลค่าการซื้อขาย 101,652.04 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง มาจากความวิตกกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงความวิตกว่าอัตราการเสียชีวิตจะมากขึ้นด้วย เพราะยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะรับมือ

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศนำทีมบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 7,826.23 ล้านบาท

– วันที่ 13 มี.ค.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,128.91 จุด เพิ่มขึ้น 14 จุด หรือ 1.26% มูลค่าการซื้อขาย 119,659.78 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากภายหลังมีกระแสข่าวว่าตลาดหลักทรัพย์จะคุมชอร์ตเซลในการซื้อขายระหว่างวัน ส่งผลให้ดัชนีฯพลิกกลับมาเป็นบวกได้ ก่อนที่ตลท.จะประกาศใช้ในช่วงบ่าย ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่ม SET100 ที่ได้ปรับตัวลงไปมากก่อนหน้านี้

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศฉายเดียวซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 10,816.03 ล้านบาท

เดือนมิถุนายน 2563 พบว่ามีวันที่มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึงระดับ 1 แสนล้าน 4 วัน ได้แก่

– วันที่ 4 มิ.ย.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,411.01 จุด เพิ่มขึ้น 36.83 จุด หรือ 2.68% มูลค่าการซื้อขาย 122,562.18 ล้านบาท โดยมูลค่าซื้อขายทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี นับตั้งแต่มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ระดับ 2.04 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62

โดยปัจจัยหลักได้รับแรงหนุนจาก Fund Flow ไหลเข้าต่อเนื่อง และยังมีความคาดหวังเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังจาการทยอยคลายล็อกดาวน์กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงปัญหาภายในสหรัฐฯที่ช่วยให้การทำสงครามการค้ากับจีนชะงักไป อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนออกมาดี

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศนำทีมบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 7,826.23 ล้านบาท

– วันที่ 5 มิ.ย.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,435.70 จุด เพิ่มขึ้น 24.69 จุด หรือ 1.75% มูลค่าการซื้อขาย 120,331.42 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดหุ้ยไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจาก Fund Flow ไหลเข้า รวมถึงมีข่าวออกมาว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีโอกาสที่จะประชุมกันได้ ในประเด็นการยืดระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น และดาวโจนส์ฟิวเจอร์สก็พุ่งขึ้นกว่า 300 จุด ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงาน, กลุ่มปิโตรเคมี รวมถึงกลุ่มโรงกลั่น ต่างปรับตัวขึ้นแรง

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศนำทีมบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 3,791.77 ล้านบาท

– วันที่ 8 มิ.ย.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,438.66 จุด เพิ่มขึ้น 2.96 จุด หรือ 0.21% มูลค่าการซื้อขาย  105,398.73ล้านบาท 

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปจนถึงเดือน ก.ค. ช่วยผลักดันให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่านักลงทุนทั่วไปในประเทศฉายเดี่ยวเข้าซื้อหุ้นในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 3,428.25 ล้านบาท

– วันที่ 9 มิ.ย.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,408.37 จุด ลดลง 30.29 จุด หรือ 2.11% มูลค่าการซื้อขาย 115,559.91 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง เนื่องจากเผชิญแรงขายทำกำไรหลังจากที่ปรับตัวขึ้นไปมากแล้วก่อนหน้านี้ อีกทั้ง ตัวเลขเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปออกมาไม่ค่อยดี และเงินกองทุนที่จะช่วยเหลือยูโรโซน ยังต้องผ่านหลายขั้นตอน

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศฉายเดี่ยวขายหุ้นในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 2,614.75 ล้านบาท

เดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีวันที่มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึงระดับ 1 แสนล้าน 6 วัน ได้แก่

– วันที่ 10 พ.ย.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,341.24 จุด เพิ่มขึ้น 55.36 จุด หรือ 4.31% มูลค่าการซื้อขาย 1.67 แสนล้านบาท โดยมูลค่าซื้อขายวันนี้ ถือเป็นการทำจุดสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ระดับ 2.05 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62

อนึ่ง ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับพัฒนาการวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 หลังจากไฟเซอร์ และ BioNTech แถลงผลการทดลองร่วมกันพัฒนาวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 22,048.54 ล้านบาท

– วันที่ 11 พ.ย.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,345.34 จุด เพิ่มขึ้น 4.10 จุด หรือ 0.31% มูลค่าการซื้อขาย 117,152.65 ล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความดาดหวัง Fund  Flow ไหลเข้ามา หลังนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเกือบ 2 หมื่นล้านบาทในวันก่อนหน้า ทำให้มีลุ้นที่ Fund Flow จะไหลเข้ามา ตอบรับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 คืบหน้า อีกทั้งเงินบาทแข็งค่าในรอบ 10 เดือนแถว 30.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ บ่งชี้โอกาส Fund Flow ไหลเข้า และราคาน้ำมันยังยืนได้ดีเป็นแรงส่งสำคัญให้กับตลาดฯ

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศพร้อมใจกันซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 8,003.66 ล้านบาท

– วันที่ 23 พ.ย.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,420.43 จุด เพิ่มขึ้น 31.09 จุด หรือ 2.24% มูลค่าการซื้อขาย 105,036.78 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าได้รับแรงหนุนจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง หลังจากที่มาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาไม่ได้ทำให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าชัดเจน ประกอบกับ นักลงทุนต่างชาติยังเข้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ขานรับปัจจัยบวกจากความคืบหน้าของพัฒนาการวัคซีนต้านโควิด-19

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศรวมถึงบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม  ล้านบาท 5,684.17 ล้านบาท

– วันที่ 24 พ.ย.63

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดวันนี้ที่ระดับ 1,401.63 จุด ลดลง 18.80 จุด หรือ 1.32% มูลค่าการซื้อขาย 102,837.88 ล้านบาท

โดยดัชนีปรับตัวลดลง เนื่องจากเผชิญแรงขายทำกำไรหลังจากที่นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.จนถึงปัจจุบันดัชนีดีดตัวขึ้นไปแล้วถึง 20%

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศฉายเดี่ยวขายหุ้นไทยในวันดังกล่าวมูลค่ารวม 4,008.74 ล้านบาท

– วันที่ 25 พ.ย.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,415.72 จุด เพิ่มขึ้น 14.09 จุด หรือ 1.01% มูลค่าการซื้อขาย 117,120.20 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับความคืบหน้าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจให้แก่นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่านักลงทุนต่างประเทศฉายเดี่ยวซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวมูลค่ารวม 3,744.68 ล้านบาท

– วันที่ 30 พ.ย.63

ดัชนีปิดวันที่ระดับ 1,408.31 จุด ลดลง 29.47 จุด หรือ 2.05% มูลค่าการซื้อขาย 120,486.50 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง เนื่องจาก MSCI ปรับน้ำหนักการลงทุน ซึ่งตลาดบ้านเราถูกปรับลดน้ำหนักด้วย รวมถึงยังมีความวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ และมีความวิตกกังวล กรณีหญิงไทยใน จ.เชียงใหม่ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากเมียนมา

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 7,354.41 ล้านบาท

ส่งท้ายปีที่เดือนธันวาคม 2563 พบว่ามีวันที่มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึงระดับแสนล้านด้วยกันทั้งสิ้น 9 วัน ได้แก่

– วันที่ 8 ธ.ค.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,478.92 จุด เพิ่มขึ้น 29.09 จุด หรือ 2.01% มูลค่าการซื้อขาย 123,462.49 ล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนหลักจาก Fund Flow ไหลเข้า หลังจากโบรกเกอร์ต่างชาติหลายราย upgrade มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทย

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 6,750.98 ล้านบาท

– วันที่ 9 ธ.ค.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,482.67 จุด เพิ่มขึ้น 3.75 จุด หรือ 0.25% มูลค่าการซื้อขาย 123,396.73 ล้านบาท

อนึ่ง โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับพัฒนาการวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีความคืบหน้าในการฉีดให้กับคน

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเข้าซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 4,257.31 ล้านบาท

– วันที่14 ธ.ค.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,476.13 จุด ลดลง 6.54 จุด หรือ 0.44% มูลค่าการซื้อขาย 107,352.26 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง เนื่องจากแรงขายทำกำไรหุ้นขนาดใหญ่หลังจากปรับขึ้นไปมากแล้ว นำโดยกลุ่มพลังงานและกลุ่มแบงก์

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 6,466.27 ล้านบาท

– วันที่ 16 ธ.ค.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,482.09 จุด เพิ่มขึ้น 4.88 จุด หรือ 0.33% มูลค่าการซื้อขาย 106,421.94 ล้านบาท

ส่วนดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับตลาดในยุโรปที่เทรดในทิศทางเดียวกับดาวโจนส์ที่ปรับขึ้น จากความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 1,641.62 ล้านบาท

– วันที่ 17 ธ.ค.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,483.89 จุด เพิ่มขึ้น 1.80 จุด หรือ 0.12% มูลค่าการซื้อขาย 112,756.84 ล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตอบรับ Fund Flow ที่ยังหนุนจากนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิอยู่  อีกทั้งได้แรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มพลังงานจากราคาน้ำมันที่ยังบวกดี หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่าที่คาดไว้

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศร่วมด้วยบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเข้าซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 2,635.95 ล้านบาท

– วันที่ 18 ธ.ค.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,482.38 จุด ลดลง 1.51 จุด หรือ 0.10% มูลค่าการซื้อขาย 1.17 แสนล้านบาท

อนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง เนื่องจากแรงขายทำกำไรระยะสั้นในช่วงรอดูความคืบหน้าอังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้น

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 9,245.32 ล้านบาท

– วันที่ 21 ธ.ค.63

ดัชนีปิดวันที่ระดับ 1,401.78 จุด ลดลง 80.60 จุด 5.44% มูลค่าการซื้อขาย 129,435.44 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกลับมากังวลว่าจะมีการล็อกดาวน์เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และยังพบการกระจายในหลายจังหวัด

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เข้าขายหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 11,589.86 ล้านบาท

– วันที่ 24 ธ.ค.63

ดัชนีปิดตลาดวันนี้ ที่ระดับ 1,451.52 จุด เพิ่มขึ้น 35.50 จุด หรือ 2.51% มูลค่าการซื้อขาย 1.03 แสนล้านบาท

อนึ่ง ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคลายกังวลหลังจากที่ไม่มีเรื่องการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ มีเพียงการคุมเข้มบางพื้นที่เท่านั้น

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เข้าซื้อหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 2,631.87 ล้านบาท

– วันที่ 28 ธ.ค.63

ดัชนีปิดที่ระดับ 1,452.67 จุด ลดลง 33.64 จุด หรือ 2.26% มูลค่าการซื้อขาย 103,634.29 ล้านบาท

ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง เนื่องจากแรงขายทำกำไรหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำและมีผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีฯ อย่าง DELTA, AEONTS และ BAY หลังจากราคาปรับขึ้นไปมากอย่างต่อเนื่องช่วงก่อนหน้านี้

สำหรับการซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยในวันดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 8,485.18 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่า ในปี 2564 นี้ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และวัคซีนโควิดเริ่มใช้งานได้จริงจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเวียนเข้าสู่ตลาดหุ้นอย่างคึกคักได้อีกครั้งหรือไม่

Back to top button