“อนุทิน” เล็งผ่อนคลายพื้นที่ปลอดโควิด-สั่งตั้งทีมถกปมเลิกรักษาฟรี คนทำผิดกม.

“อนุทิน” เล็งผ่อนคลายพื้นที่ปลอดโควิด-สั่งตั้งทีมถกปมเลิกรักษาฟรี คนทำผิดกม.


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เตรียมมาตรการผ่อนคลายให้พื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื่อโควิด-19 ในช่วงเวลากักกันโรค 7-14 วัน ส่วนกรณียกเลิกรักษาฟรีให้กับผู้ติดเชื้อที่มาจากเล่นการพนันและลักลอบข้ามแดนนั้นส่งต่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติไปพิจารณา

โดยระบุว่าตนเองพ้นกำหนดกักตัวแล้วได้เข้าประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 07.30 น.โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประชุม 07.30 น.ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ไม่มีเทศกาล มีแต่งาน การวางแผน และการทำงานมาต่อเนื่องเกือบ 1 เดือนนับตั้งแต่มีการระบาดระลอกใหม่ กลางธันวาคมปีที่แล้ว มีเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และป้องกันการสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลการควบคุมโรคที่มีแนวโน้มได้ผลดีในหลายพื้นที่ และเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการผ่อนปรนการทำกิจกรรมต่างๆ ในจังหวัด หรือ พื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ และพื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อมาอย่างน้อย 7-14 วัน ติดต่อกัน ซึ่งน่าจะเป็นกำลังใจ และเป็นความหวังให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ การทำกิจกรรม การประกอบอาชีพ การค้าขาย ก็น่าจะกลับมาได้ อาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ ก็น่าจะดีกว่าถูกจำกัดหลายๆ เรื่องเช่นในขณะนี้

สำหรับประเด็นภาระค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วยที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายโรคติดต่อ มาตรา 41 และ 42 กำหนดไว้ และ ผมได้นำเสนอให้ช่วยกันคิด ปรากฏว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้น

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติวันนี้ จึงได้มอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติตั้งคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พิจารณาแล้ว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ขอย้ำอีกครั้งว่า ประเด็นที่ชวนให้คิด ไม่ใช่การปฏิเสธการรักษา ผู้ป่วยทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานสาธารณสุข ไม่ใช่การทำงานแบบ”วัวหายแล้วล้อมคอก” หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เป็นการเสนอให้ภาคประชาชนช่วยกันคิด เพื่อป้องกัน การระบาดระลอกสาม โดยมีสาเหตุ “ซ้ำรอยเดิม” เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ คือ ปล่อยให้มีการลักลอบนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศอีก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ การสาธารณสุข และผู้แทนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพิจารณากัน ผลเป็นอย่างไร รัฐมนตรีมีหน้าที่ประกาศตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด

Back to top button