เครือข่ายคนจันท์ฯ ร้องนายกฯ เบรกออกอาชญาบัตรทำเหมืองแร่ หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อม-ชุมชน

นายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รับหนังสือจากเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทอง ยื่นค้านคำขออาชญาบัตร หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างความเดือดร้อนชุมชน ย้ำแนวทางแก้ไขต้องเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ก.พ.64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมมอบหมายให้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับหนังสือจากผู้แทนเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทอง 44 องค์กร โดยมี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไทย นางสาวญาธิชา บัวเผื่อน ส.ส. จันทบุรี พรรคก้าวไกล นายสมยศ ศรีทองคำ สจ.จันทบุรี และ นายธีระ วงษ์เจริญ รักษาการประธานสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง นำคณะกว่า 20 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการยื่นขอคำอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ในพื้นที่ 2 แปลง 14,650 ไร่ ใน ต.พวา ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและต่อต้านการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนในพื้นที่ จ.จันทบุรี

โดยการยื่นหนังสือในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการหารือของเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทอง 44 องค์กร ซึ่งผ่านการรับรองข้อบังคับสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง จำนวน 15 ท่าน เพื่อติดตามความคืบหน้าภายหลังที่เคยได้มีการยื่นหนังสือแสดงจุดยืนคัดค้านไปยัง 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมถึง ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี

สำหรับข้อคัดค้านให้ยุติการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.บริเวณที่จะดำเนินการสำรวจอยู่ในพื้นที่ติดกับป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 1,200,000 ไร่ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติเขาวง-เขาชะเมา อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาสอยดาวและอุทยานแห่งชาติเขาคิชกูฎ บริเวณดังกล่าวอยู่ติดกับเขตลุ่มน้ำคลองวังโตนดพื้นที่ 1,839 ตารางกิโลเมตร (1,150,000 ไร่) นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรีแล้วยังแบ่งปันไปช่วยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) ที่สำคัญยังเป็นที่อยู่ของช้างป่าประมาณ 400 เชือก ประชากรช้างป่ามีอัตราการเพิ่มประมาณ 8 % ดังนั้นหากมีการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและการขอประทานบัตรเหมืองแร่ในอนาคต ย่อมก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารโลหะหนักในแหล่งน้ำ ส่งผลต่อผู้คนในจังหวัดจันทบุรีและภาคตะวันออกรวมทั้งจะสูญเสียพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของจังหวัดจันทบุรีด้วย

2.แผนพัฒนาจังหวัดจันทบุรีดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “จันทบุรีเมืองเกษตรปลอดภัย เศรษฐกิจมูลค่าสูง สังคมมีสุขบนวิถีพอเพียง”ประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรี 4 มิติ คือ การเกษตร อัญมณี การท่องเที่ยวและการค้าชายแดน รายได้ครึ่งหนึ่งของจังหวัดมาจากภาคเกษตร สร้างมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจให้ชาวจังหวัดจันทบุรีและประเทศแต่ละปีประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท มีผลผลิตส่งออกปีละ 600,000 ตันอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 7-10% และความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติทำให้การท่องเที่ยวปี 2562 มีมูลค่าถึง 10,320 ล้านบาท ปี 2563 แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 ยังทำรายได้ถึง 7,874 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากค่าภาคหลวงแร่ ดังนั้น หากมีการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและการขอประทานบัตรเหมืองแร่ในอนาคตย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรีและประเทศ

3.การยื่นขอออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการนำไปสู่การออกประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ในอนาคต เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนและประชาชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสุขภาพ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากกระบวนการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่การระเบิดหิน การแต่งแร่ และการประกอบโลหะ มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณมาก โดยเฉพาะสารไซยาไนต์ ยิ่งกว่านั้นในหลายๆ จังหวัดที่มีการเปิดประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ชุมชนและประชนประสบปัญหาดังกล่าวอย่างรุนแรง และยังไม่ได้รับการแก้ไขเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนตัดสินร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางส่วนรวมที่รัฐบาลเพิกเฉยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการแก้ปัญหาต้องมีการหารือทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนของภาครัฐ และส่วนของภาคประชาชน ดังนั้น จึงควรมีการหารือพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์ทุกภาคส่วน ซึ่งการรับมอบหนังสือจากประชาชนชาวจันทบุรีในวันนี้จะรีบดำเนินการนำเรียนนายกรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป

Back to top button