จากแอร์พอร์ตลิงค์ถึงสายสีส้ม

ดูเหมือนสงบ..แต่ไม่จบง่ายแล้ว กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) วงเงินกว่า 142,000 ล้านบาท หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศยกเลิกการประมูล เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งที่ค่ายเอกชนต่าง ๆ มีการยื่นซองประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยข้ออ้างว่าไม่สามารถรอฟังผลชี้ขาดจากศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

ดูเหมือนสงบ..แต่ไม่จบง่ายแล้ว กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) วงเงินกว่า 142,000 ล้านบาท หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศยกเลิกการประมูล เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งที่ค่ายเอกชนต่าง ๆ มีการยื่นซองประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยข้ออ้างว่าไม่สามารถรอฟังผลชี้ขาดจากศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้

ล่าสุดบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ส่งทีมกฎหมาย ยื่นฟ้องฝ่ายบริหารรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

เนื่องจากรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างไปจากเอกสารประกวดราคา (RFP) ที่ออกไปแล้วโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าศาลปกครองกลาง จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่รฟม.มีความพยายามจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าว มาบังคับใช้ในการประมูลครั้งใหม่ (ด้วยการล้มประมูลไปก่อน) จึงน่าจะมีปัญหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด

จากกรณีดังกล่าว จึงทำให้นึกถึงคดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงค์) มูลค่า 25,000 ล้านบาท ช่วงปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช.ยื่นฟ้องนายจิตต์สันติ ธนะโสภณ อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และนายไกรวิชญ์ หรือ สุรางค์ ศรีมีทรัพย์ อดีตหัวหน้าสำนักงานกองกฎหมาย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากมีการแก้ไขสัญญาเอกสารประกวดราคาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชน เป็นเหตุให้รฟท.ได้รับความเสียหาย

ล่าสุด 16 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ มีความผิดตามมาตรา 157 ลงโทษจำคุก 9 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี ส่วนนายไกรวิชญ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น (ยกฟ้อง)

จากคดีทุจริตโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ กลายเป็นบทเรียนให้คณะกรรมและฝ่ายบริหารรฟม.กับกรณีประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้เป็นอย่างดี เหตุรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 (แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562) มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่แตกต่างจากเอกสารประกวดราคา (RFP) เดิม จนถูกบริษัทเอกชนคือ BTS ที่เข้าร่วมประมูลยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและศาลฯ มีคำสั่งให้รฟม.ทุเลาการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น พร้อมสั่งให้รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับไปใช้เกณฑ์เดิมตามเงื่อนไขประมูล (RFP) เดิม

อีกนัยสำคัญการฟ้องร้องของกลุ่ม BTS ครั้งนี้ จะมีผลผูกพันต่อการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเกิดขึ้นครั้งใหม่หรือไม่ เพราะหากรฟม.เปิดประมูลใหม่ด้วยเงื่อนไขเดิม คงไม่มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย แต่เอกชนค่ายไหนจะผิดหวังหรือสมหวังคงต้องว่ากันไป

ส่วนเรื่อง “คดีของความ” หากบรรทัดฐานมีอยู่จริง บทสรุปสุดท้ายคงไม่แตกต่างกันใช่หรือไม่..เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป..!!?

Back to top button