SONIC พุ่งแรง 8% “ออลไทม์ไฮ” ปักธงรายได้ปีนี้โต 20% ลุยธุรกิจลิสซิ่งเต็มสูบ!

SONIC พุ่งแรง 8% “ออลไทม์ไฮ” ปักธงรายได้ปีนี้โต 20% ลุยธุรกิจลิสซิ่งเต็มสูบ!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP ณ เวลา 12.06 น. อยู่ที่ระดับ 3.36 บาท บวก 0.26 บาท หรือ 8.39% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 120.65 ล้านบาท ราคาหุ้นสูงสุดตั้งแต่เข้าตลาดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2561

โดยก่อนหน้านี้นายสันติสุข โฆษิอาภานันท์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SONIC เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินงานปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 1,352 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ยังมาจากธุรกิจการขนส่งทางทะเล 60% การขนส่งทางบก 35% และการขนส่งทางอากาศ 5%

ทั้งนี้ในปี 2564 บริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจด้านการขนส่งทางบกเพิ่มเติม ด้วยการให้สินเชื่อ (Logistics Leasing) เช่าซื้อรถยนต์ จากปัจจุบันบริษัทฯ มีรถขนส่งรวม 145-150 คัน เป็นของบริษัท 95 คัน ที่เหลือเป็นของผู้รับงานช่วงต่อ (subcontractor) จะเพิ่มเป็น 400-500 คัน โดยการให้สินเชื่อแก่ผู้รับงานช่วงต่อ ในการจัดหารถเพิ่ม ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดภาระของบริษัทที่ไม่ต้องจัดหารถเอง ไม่ต้องรับผิดชอบค่าซ่อมบำรุง แต่ยังคงควบคุมมาตรฐานรถที่ใช้ขนส่งให้เป็นไปตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด

ส่วนผู้รับงานช่วงต่อที่เข้ามายื่นขอสินเชื่อนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักเคยร่วมงานในธุรกิจขนส่งอยู่แล้ว ทำให้มีข้อมูลมากพอที่จะพิจารณาด้านเครดิต ลดความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ปล่อยวงเงินสินเชื่อไปแล้วประมาณ 30 ล้านบาท โดย 2564 ตั้งเป้าว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 200 ล้านบาท และปี 2565 เพิ่มเป็น 300 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน มั่นใจว่าผู้รับงานช่วงต่อก็สนใจที่จะยื่นขอสินเชื่อจากบริษัทฯ มากกว่าการกู้เงินจากแหล่งเงินภายนอก เพราะบริษัทให้ระยะเวลาการผ่อนชำระยาวนานกว่าที่ 6 ปี คิดค่าวางเงินหรือชำระเงินงวดแรกในการซื้อ (เงินดาวน์) ต่ำกว่า และหากลูกค้ามีปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระได้ ทางบริษัทฯ ก็จะยึดคืนรถ และนำมาให้ลูกค้ารายอื่นได้อีก

นายสันติสุข กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่เรือขนส่งขนาดใหญ่ Ever Given เกยตื้นขวางคลองสุเอซเกือบ 1 สัปดาห์ว่า เป็นกรณีที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ ในระยะสั้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ค่าระวางการขนส่งสูงขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาค่าระวางและตู้คอนเทนเนอร์ไม่ใช่ความเสี่ยงที่รุนแรงต่อบริษัท เพราะเมื่อค่าระวางสินค้าสูงขึ้น บริษัทก็ต้องคิดค่าขนส่งเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนกรณีตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน บริษัทก็สามารถบริหารจัดการจากสายการเดินเรือพันธมิตรรวมทั้งเอเย่นต์แต่ละประเทศในการใช้ตู้สินค้าร่วมกันได้

ส่วนกรณีการรัฐประหารที่ประเทศเมียนมานั้น ทางบริษัทได้ตรวจสอบกับเอเย่นต์แล้วว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการขนส่ง เพราะขณะนี้เมียนมายังคงสามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้ตามปกติ

 

Back to top button