ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมี.ค.ปรับลด เหตุกังวลโควิดรอบใหม่-เสถียรภาพการเมือง

ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมี.ค.ปรับลด เหตุกังวลโควิดรอบใหม่-เสถียรภาพการเมือง


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.อยู่ที่ 48.5 ลดลงจากเดือนก.พ.64 ซึ่งอยู่ที่ 49.4

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 42.5 จาก 43.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.3 จาก 46.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 57.7 จาก 58.7

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.ลดลง เป็นผลจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ทั้งในสภา และนอกสภา” นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุ

โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศให้งดกิจกรรมสาดน้า ประแป้ง และปาร์ตี้โฟมทุกพื้นที่ในช่วงสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2564 สู่ระดับ 3.0 % จากที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา

ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยโครงการเราชนะ โครงการรารักกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าวยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

Back to top button