TSTH คาดยอดขายเหล็กปี 64/65 โต รับดีมานด์-ราคาพุ่ง อัดงบฯลงทุนปีนี้ 300 ลบ.

TSTH คาดยอดขายเหล็กปี 64/65 โต รับดีมานด์-ราคาพุ่ง อัดงบฯลงทุนปีนี้ 300 ลบ.


นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH เปิดเผยว่า บริษัทคาดยอดขายเหล็กงวดปี 64/65 (เม.ย.64-มี.ค.65) เติบโตกว่างวดปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) ที่ทำได้ 1.303 ล้านตัน เป็นไปตามความต้องการเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น โดยได้แรงผลักดันหลักมาจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีออกมาต่อเนื่อง

รวมถึงราคาเหล็กทั้งในประเทศไทยและทั้งโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยขณะนี้ราคาขายเหล็กในประเทศอยู่ที่ 22,500 บาท/ตัน หรือคิดเป็น 22.5-23 บาท/กิโลกรัม ขณะเดียวกันราคาแร่เหล็ก, เหล็กแท่ง (Billet) และเหล็กลวด ก็อยู่ในทิศทางขาขึ้นตามไปด้วย บวกกับราคาค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้ TSTH มองว่าราคาเหล็กน่าจะอยู่ในระดับสูงไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทคาดว่าส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 งวดปี 64/65 (เม.ย.-มิ.ย.64) เติบโตกว่าไตรมาส 4 งวดปี 64/65 (ม.ค.-มี.ค.64) ที่มียอดขายเหล็กอยู่ที่ 3.66 แสนตัน

“เราถือว่าอยู่ในจุดที่ดีทีเดียว เนื่องจากเราไม่ได้พึ่งพิงการส่งออก ส่วนใหญ่เราจะขายในประเทศประมาณ 90% จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจาก 30 เหรียญ/ตัน เป็น 50 เหรียญ/ตัน ซึ่งการนำเข้าวัตถุดิบเราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้จัดจำหน่ายเศษเหล็กในประเทศ ทำให้ผลกระทบที่เกิดจากการนำเข้าในเรื่องของต้นทุนขนส่ง จึงไม่ได้มีผลกระทบกับบริษัท”  นายราจีฟ กล่าว

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ บริษัทยืนยันว่ายังไม่ได้รับผลกระทบ และยังมองว่าหากภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็ว ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนต่อการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ แต่หากมีการล็อกดาวน์ประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการเดินทางที่ยากลำบาก อาจจะกระทบต่อบริษัทได้

ทั้งนี้ บริษัทวางงบลงทุนงวดปีนี้ไว้ที่ 250-300 ล้านบาท โดยจะใช้เงินราว 50% ของงบลงทุนในการรักษาประสิทธิภาพการผลิตให้เป็นไปอย่างราบรื่น และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุนต่างๆ ขณะที่บริษัทยืนยันกำลังการผลิตที่มียังสามารถรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอ โดยมีกำลังการผลิตราว 1.7 ล้านตัน จากปัจจุบันใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน ซึ่งยังรองรับได้อีกมากโดยไม่ต้องขยายกำลังการผลิต

Back to top button