THG จับมือ 2 โรงแรม “พูลแมน-ไอบิส” ตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วย “โควิด” กว่า 800 ห้อง

THG จับมือ 2 โรงแรม "พูลแมน-ไอบิส" ปรับพื้นที่ ตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 800 ห้อง


นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน มีทางเลือกที่จะสามารถเข้าพักรักษาตัวใน Hospitel ได้ โดยใช้สิทธิประกันสุขภาพหรือใช้สิทธิ UCEP แล้วแต่กรณี โดย THG ได้ร่วมมือกับ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ แกรนด์ สุขุมวิท (อโศก) และโรงแรมไอบิส กรุงเทพฯ อิมแพ็ค ปรับพื้นที่เพื่อรองรับคนไข้ โดยมีห้องรวมทั้งสองโรงแรมกว่า 800 ห้อง

พร้อมเตรียมทีมแพทย์และพยาบาลเพื่อดูแลคนไข้ โดยใช้การสื่อสารผ่านระบบ Telemedicine เพื่อความปลอดภัย คนไข้จะได้รับบริการอาหาร จัดยา ติดตามและประเมินอาการจากแพทย์และพยาบาล จนกระทั่งหายเป็นปกติและตรวจไม่พบเชื้อ จึงสามารถกลับบ้านได้ อย่างไรก็ตามในกรณีที่คนไข้มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ปอดติดเชื้อ จึงจะส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป

ทั้งนี้ THG เชื่อว่า Hospitel จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่พักรักษา ช่วยรองรับคนไข้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

สำหรับการระบาดระลอกใหม่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โรงพยาบาลในเครือ THG จึงเตรียมความพร้อมรองรับคนไข้โควิด-19 เพื่อสนับสนุนภาครัฐแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ตั้งแต่การเปิดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 และบรรเทาปัญหาขาดแคลนห้องพัก

โดยทางโรงพยาบาลได้จัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือฮอสพิเทล (Hospitel) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงแรมและ THG เพื่อปรับห้องพักโรงแรมมาเป็นห้องผู้ป่วยชั่วคราว สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย โดยการขยายพื้นที่รักษาผู้ป่วยนี้ จะช่วยให้สามารถเข้าถึงการรักษาและป้องกันการแพร่กระจายโรคได้ดีขึ้น หากควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้และมีพื้นที่ดูแลผู้ป่วยที่อาการน้อย ก็จะช่วยให้มีเตียงโรงพยาบาลสำรองสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงกว่า และช่วยลดโอกาสที่อัตราผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นจากการมีห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ปัจจุบันคาดว่าโรงพยาบาลในประเทศไทย จะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในระดับประมาณ 2,000 คน/วัน จึงจำเป็นต้องเตรียมการขยายพื้นที่รักษา และสิ่งจำเป็นอีกประการ คือ การจัดหายารักษาให้เพียงพอและทันท่วงที เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่มีผลการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสได้ดี หากคนไข้ได้รับยาช้าเกินไป อาจทำให้มีอาการมากขึ้น การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร อีกทั้งวัคซีนก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยป้องกันการระบาดได้บ้าง และช่วยลดความรุนแรงของอาการในกรณีที่ติดเชื้อ

“หากสามารถระดมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้สามารถกลับมาดำเนินวิถีชีวิตได้ปกติ ช่วยกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจของประเทศ” นายแพทย์บุญ กล่าว

 

 

 

Back to top button