BCP คาดรายได้ปี 64 โตแกร่งทุกธุรกิจ ดัน “BBGI” เข้าตลาดต้นปีหน้า

BCP คาดรายได้ปี 64 โตแกร่งทุกธุรกิจ เชื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หนุนความต้องการใช้น้ำมันเพิ่ม พร้อมรับปัจจัยบวกราคาน้ำมันดิบขึ้น เดินหน้าขยายปั้มน้ำมันปีนี้ 100 สาขา ดัน “BBGI” เข้าตลาดต้นปีหน้า


นางเสาวภาพ สุเมฆศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานควบคุมบัญชีและการเงิน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP นำเสนอข้อมูลภาพรวมธุรกิจบริษัทและสรุปผลประกอบการไตรมาส 1/2564 สิ้นสุด 31 มี.ค.2564 รวมทั้งแผนธุรกิจในปี 2564 ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 31 พ.ค.2564 ว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มดีขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มได้รับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสแล้ว ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง และเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยและการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประกอบการผลิตน้ำมันกลุ่มโอเปก ยังคงจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอยู่ ส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 2564 ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้ธุรกิจการกลั่นของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยในช่วงไตรมาสดังกล่าวบริษัทฯ มี EBITDA อยู่ที่ 4,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 จะเติบโตกว่าไตรมาส 1/64 เนื่องจากค่าการกลั่น (GRM) ปรับตัวดีขึ้น หลังจากโรงกลั่นบางจากฯ สามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติจากที่หยุดซ่อมบำรุงตามวาระเป็นเวลา 35 วัน

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทวางแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันเพิ่มอีก 100 แห่ง จากในปี 2563 มีสถานีบริการน้ำมัน 1,233 แห่ง, เปิดสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบเฉพาะตัว (Unique Design) เพิ่มเป็น 59 แห่ง โดยจะเน้นการขยายไปยังถนนสายหลัก หรือหัวเมืองหลักเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมาช่วยเพิ่มยอดขายได้ราว 10% และจะเปิดร้าน “อินทนิล คอฟฟี่” เพิ่ม 150 สาขา จากปีก่อน 673 สาขา พร้อมเปิดตัวโปรโมชั่นและผลิตภัณฑ์ใหม่

ส่วนธุรกิจสถานีชาร์ทไฟฟ้า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อขยายจุดติดตั้งสถานีชาร์ทไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันบางจาก จำนวน 152 แห่ง โดยปัจจุบันติดตั้งเรียบร้อยแล้ว 18 สาขาใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าไตรมาส 2 ปี 2564 จะติดตั้งให้ครบ 56 สาขา โดยจะเน้นบนเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

สำหรับความคืบหน้าการนำบริษัท บีบีจีไอ หรือ BBGI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทคาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 และจะสามารถเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ได้ในไตรมาส 1 ปี 2565

ส่วนของ OKEA ASA คาดว่าแหล่งน้ำมันดิบ Yme จะดำเนินการผลิตครั้งแรก (first production) ในครึ่งปีหลังของปี 2564 และอยู่ระหว่างตัดสินใจลงทุนในแหล่ง Hasselmus คาดทราบผลในไตรมาส 2/64 ขณะที่ Lithium Americas Corp. (LAC) ธุรกิจเหมืองลิเทียม เพื่อผลิตเป็นลิเทียมคาร์บอเนตและลิเทียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างที่ Cauchari-Olaroz โดยมีกำหนด first production กลางปี 65 โดย BCP จะได้รับสิทธิ Offtake ซื้อลิเทียมที่จำนวน 6,000 ตันต่อปี

โดยภาพรวมรายได้ในปีนี้คาดว่าทุกธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกจะดีขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในช่วงปี 2564 จะเติบโตดีกว่าช่วงปี 2563

ด้าน นายบัณฑิต หรรษาไพบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวางแผนจัดหาและธุรกิจการค้าน้ำมัน BCP เปิดเผยว่า สำหรับธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันในไตรมาส 1 ปี 2564 มี EBITDA อยู่ที่ 2,411 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ มีการหยุดดำเนินงานเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงตามแผน ทำให้กำลังการผลิตลดลง ซึ่งปัจจุบันสามารถกลับมาเปิดดำเนินงานได้ตามปกติแล้ว ขณะที่ค่าการกลั่น และราคาขายเริ่มปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราการฉัดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น

ส่วนบริษัท BCP Trading Pte. Ltd. (BCPT) บริษัทย่อยซึ่งจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ เพื่อการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์อื่นๆ ก็มีผลการดำเนินงานปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทวางแผนจะมีอัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 100,000-110,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกอยู่ที่ 6,500 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้น้ำมันในช่วงนี้ ส่วนในครึ่งหลังปี 2564 มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง และในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่มีแผนปิดโรงกลั่นเพื่อปิดซ่อมบำรุงแล้ว และทั้งปีคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 บาร์เรลต่อวัน

สำหรับแนวโน้มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันในครึ่งปีหลังนี้ มองว่าค่าการกลั่นมีแนวโน้มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ด้วยทางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะมาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และไทย ยังคงเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรง จึงส่งผลให้ค่าการกลั่นฟื้นตัวได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไม่ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทยได้ ซึ่ง BCP ได้มีการปรับกลยุทธ์ โดยจะเน้นตลาดส่งออกมากขึ้น เช่น การนำน้ำมันดีเซลบางส่วนส่งออก รวมถึงไปถึงขยายตลาดของ UCO (Unconverted Oil)

Back to top button