เปิดงบ 11 หุ้นแบงก์ อ่วมอรทัย!

เปิดโผสำรวจผลการดำเนินงาน Q1/59 ในหุ้นกลุ่มแบงก์ ยังชะลอตัว ผลงานไม่น่าประทับใจ หลังภาวะตลาดไม่เอื้อ-เผชิญปัจจัยลบเพียบ!


เปิดโผสำรวจผลการดำเนินงาน Q1/59 ในหุ้นกลุ่มแบงก์ ยังชะลอตัว ผลงานไม่น่าประทับใจ หลังภาวะตลาดไม่เอื้อ-เผชิญปัจจัยลบเพียบ! 

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง SET และ maiซึ่งอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 ช่วงวันที่ 15 เม.ย. ถึง 21 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยพบว่าผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่มธนาคารส่วนใหญ่แล้วในไตรมาสดังกล่าว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อไตรมาสก่อน (Q1/58) และเทียบกับไตรมาสก่อน (Q4/58) ถือว่าผลการดำเนินงานยังชะลอตัว หรือลดลง หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งมีปัจจัยลบเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมาแล้ว เรียกตามลำดับการเติบโตของกำไรดังนี้ CIMBT ,LHBANK ,KKP ,TMB ,BAY ,TISCO ,TCAP ,KTB ,BBL ,SCB และKBANK

ตารางแสดงการเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินงาน

 

 

อันดับ 1 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 327.35 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.0132 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 151% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 130.60 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.0062 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวปรับตัวขึ้นเนื่องจาก บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการขยายสินเชื่อและลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง

อันดับ 2 บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 571.46 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.0419 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 328.21 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.0241 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 ตามการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.1

อันดับ 3 ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 1.11 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.31 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 664.09 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.79 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวเพิ่มขึ้นเนื่องจาก กำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) (ทุนภัทร) และบริษัทย่อย ได้แก่ บล.ภัทร บล.เคเคเทรด และ บลจ.ภัทร เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.5 ซึ่งเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 224 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจำนวน 1,156 ล้านบาทลดลง 345 ล้านบาทหรือร้อยละ 23

อันดับ 4 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 2.09 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.0478 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.64 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.0375 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง ขณะที่รายได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวร้อยละ 3.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามการเติบโตของสินเชื่อคุณภาพและการบริหารต้นทุนทางการเงินที่ดี ในส่วนของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.7 ปัจจัยหนุนหลัก ได้แก่ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

อันดับ 5 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 5.15 พันล้านบาท  หรือมีกำไรสุทธิ 0.70 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.33 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.59 บาทต่อหุ้น

อันดับ 6 บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 1.25 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.57 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.19 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.49 บาทต่อหุ้น

อันดับ 7 บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 1.35 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.16 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.33 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.10 บาทต่อหุ้น

อันดับ 8 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ  7.54 พันล้านบาท  หรือมีกำไรสุทธิ 0.54 บาทต่อหุ้น ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.93 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.57 บาทต่อหุ้น

อันดับ 9 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2559 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 8.32 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 4.36 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9.41 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 4.93 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวลดลงเนื่องจาก บริษัทมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.48 พันล้านบาท หรือ 23.9% เพิ่มขึ้นมากที่ค่าใช้จ่ายประมาณการหนี้สินสำหรับภาระผูกพัน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายอาคารสถานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 291 ล้านบาท หรือ 4.6% จากการลดลงของค่าธรรมเนียมการรับประกันการจัดจำหน่ายตราสารทางการเงิน

อันดับ 10 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 1.05 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 3.10 บาทต่อหุ้น ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.32 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 3.87 บาทต่อหุ้น

อันดับ 11 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2559 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 มีกำไรสุทธิ 9.65 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 4.03 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 22% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 5.18 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวลดลงเนื่องจาก ส่วนใหญ่ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว

 

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งรายงานงบออกมาแล้ว ส่วนใหญ่ผลการดำเนินงานเป็นไปตามคาดหรือต่ำกว่าเล็กน้อย โดยภาพรวมนั้นรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงหรือทรงตัวตามภาวะสินเชื่อที่ชะลอตัว เป็นผลจากเศรษฐกิจที่ซบเซา

ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลงหลังผ่านพ้นช่วงฤดูกาล ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 ขึ้นอยู่กับระดับ NPL และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ซึ่งธนาคารพาณิชย์บางแห่งอาจตั้งสูงขึ้นตามนโยบายระมัดระวัง (TISCO และ TCAP) บางแห่งอาจตั้งน้อยลง (KKP) เนื่องจากส่วนใหญ่มีระดับ NPL ที่ลดลงในไตรมาส 1/59

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ คาดว่าจะรับรู้เข้ามาเต็มไตรมาสตั้งแต่ไตรมาส 2/59 เป็นต้นไป กดดัน NIM ขณะที่คาดการณ์ NPL อาจพุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 2/59 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังชะลอตัว ความต้องการสินเชื่อน้อย โดยเฉพาะ SMEs การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ช่วยเพิ่มความต้องการใช้สินเชื่อมากนัก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ น่าจะยังทรงตัวจากไตรมาส 1/59   ล่าสุดได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มปี 2559-2560 ลง 5.0% และ 4.5% จากเดิม ส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มปี 2559 เติบโตลดลงเหลือเพียง 3.8%จากปีก่อน แต่หากพิจารณาการลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มเชื่อว่าน่าจะซึมซับข่าวร้ายไปมากพอควรแล้ว สะท้อนจากผลตอบแทนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้อยู่ที่ 9.5% นับตั้งแต่ช่วงต้นปีใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตลาดที่ 9.9% จึงน่าจะเป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้นที่ต่ำกว่าราคา Book Value หรือมีศักยภาพสูง พื้นฐานแข็งแกร่ง โดยยังคงเลือก KBANK (ราคาเป้าหมาย 238 บาท) เป็น Top Pick และซื้อ TISCO (ราคาเป้าหมาย 50 บาท)

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำหรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตามล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button