SCBAM เปิดขาย “SCBJAPAN” ลงทุนหุ้นญี่ปุ่น 5-11 ต.ค.นี้

SCBAM เปิดขาย “SCBJAPAN” ลงทุนหุ้นญี่ปุ่น 5-11 ต.ค.นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท เปิดทางนักลงทุนเลือกลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ ชนิดสะสมมูลค่า – SCBJAPAN(A) และชนิดกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว-SCBJAPAN(SSF)


นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คงเห็นโอกาสเติบโตจากการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหุ้นญี่ปุ่นมีการปรับตัวขึ้นในช่วงปีก่อนหน้า และเริ่มย่อตัวลงโดยตลาดคาดหวังโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว จึงได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นญี่ปุ่น แอคทีฟ (SCB Japan Active Equity : SCBJAPAN) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 5 – 11 ตุลาคม 2564 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท ทั้งนี้ ได้เปิดให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ ชนิดสะสมมูลค่า – SCBJAPAN(A) และชนิดกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว – SCBJAPAN(SSF) โดยสามารถซื้อได้ในทุกช่องทางรวมถึงผู้สนับสนุนการขายทุกราย

โดยความน่าสนใจของกองทุนหลัก คือ เป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Japan Large-Cap Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2564) พร้อมทั้งมีการบริหารเชิงรุก (Active Fund) โดยทีม Native Japanese Professionals ภายใต้ปรัชญาการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในช่วง Regrowth Stage และหลีกเลี่ยงธุรกิจกลุ่ม Start-up ที่มักมีความผันผวนสูง เน้นลงทุนให้สร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนได้ง่ายตามสภาวะของตลาด ต่างกับการบริหารเชิงรับ (Passive Fund) ที่เน้นลงทุนตามดัชนีตลาด ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ก็จะใกล้เคียงกับดัชนีตลาด นอกจากนี้ กองทุนยังเน้นพอร์ตการลงทุนที่มีความเชื่อมั่นสูง (high-conviction) ประมาณ 25 – 40 ตัว โดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นรายตัวสูงสุดไม่เกิน 10% ซึ่งที่ผ่านมากองทุนหลักสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

“หลังจากที่ราคาหุ้นญี่ปุ่นมีการปรับตัวขึ้นในช่วงปีก่อนหน้า และเริ่มย่อตัวลงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มองว่าตลาดยัง laggard ตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในปีนี้ จึงมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้อีกมาก สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เติบโตมาจากการที่บริษัทญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับเทรนด์การลงทุนสมัยใหม่ เพื่อศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว รวมถึงการที่ภาครัฐและผู้ประกอบการได้ให้ความสำคัญต่อประเด็น ESG ซึ่งมองเป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ดยคาดการณ์ว่าจะมีการนำพลังงานทางเลือกมาใช้กว่า 50-60% ภายในปี 2050

ประกอบกับตลาดญี่ปุ่นยังได้รับอานิสงส์จาก cyclical tailwind และมองว่าระดับภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตยังมีความต้องการในระดับสูง นอกจากนี้ ระดับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ร่วมกับการเร่งตัวขึ้นของการคาดการณ์กำไรในตลาด และเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เริ่มกลับเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ถึงแม้ว่า upside ในช่วงระยะสั้นจะมีอยู่อย่างจำกัด แต่โอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาวคือสิ่งที่ตลาดคาดหวัง” นางนันท์มนัส กล่าว

สำหรับกองทุน SCBJAPAN เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Goldman Sachs Japan Equity Partners Portfolio (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน I Shares (Acc.) ในสกุลเงินเยน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS โดยกองทุนมีนโยบายเน้นสร้างผลตอบแทนในระยะยาวจากการเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทญี่ปุ่นที่คุณภาพดี และมีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน

ส่วนกองทุนหลักบริหารโดย Goldman Sachs Asset Management Fund เน้นลงทุนในหุ้นที่มีขนาด Market Cap เริ่มต้นตั้งแต่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค  กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสุขภาพ และกลุ่มการเงิน เป็นต้น โดยกองทุนจะเฟ้นหาไอเดียการลงทุนเพื่อวิเคราะห์หลักทรัพย์รายตัวเชิงลึก (Bottom –up) ในการประเมินศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจสูงสุด ทั้งนี้ กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 28.23% เทียบกับดัชนีอ้างอิง Topix Index (Net Total Return, Unhedged, JPY) อยู่ที่ 23.38% (ที่มา: GSAM ณ 31สิงหาคม 2564)

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้ยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุน RMF/SSF กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

Back to top button