SCB CIO ชี้ช่องลงทุนผ่าน Wealth Lending สู้วิกฤต “เงินเฟ้อ”

“SCB CIO” แนะลงทุนผ่าน Wealth Lending Products เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีสู้กับเงินเฟ้อ ตั้งเป้าหมายเติบโตในปีนี้ขั้นต่ำที่ 10,000 ลบ.


นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ช่องทางการบริหารเงินสามารถดำเนินการผ่านสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย และมีสภาพคล่องที่แตกต่างกันไป ตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา

โดยนักลงทุนที่ถือครองสินทรัพย์ทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด เงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เริ่มเรียกเก็บเต็มจำนวนในปีนี้

ส่วนปัจจัยต่างประเทศจากความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงภูมิศาสตร์ (geopolitical risks) และความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมาส่งผลให้นักลงทุนที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High net worth) มองหาสภาพคล่องในสินทรัพย์ที่ถือครองเพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างรายได้ และกระจายความเสี่ยง  โดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ เพราะอาจทำให้เสียโอกาสหากมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองมีการปรับตัวขึ้นในอนาคต

ด้านสินทรัพย์ของนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งระดับสูงถือครอง ได้แก่ สินทรัพย์ประเภทที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวสามารถนำมาจำนองกับธนาคาร โดยอยู่ภายใต้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภท Wealth Lending Products ประกอบด้วย Property Backed Loan   โดยการนำสินทรัพย์ประเภทที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์มาจำนองกับธนาคาร และ Lombard Loan เป็นการนำหลักทรัพย์ประเภท หุ้นกู้ มาจำนองกับธนาคาร

โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้กับนักลงทุนในอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ ระหว่าง 2.5 – 4% ต่อปี ขึ้นกับระยะเวลาชำระคืนเงินต้น โดยเงินกู้ที่นักลงทุนได้รับจะนำมาลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย ทั้งผลิตภัณฑ์ของธนาคารและบริษัทในเครือ เช่น SCB Securities, SCB Asset Management และ SCB Julius Bar โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของธนาคารเป็นที่ปรึกษาและแนะนำการลงทุน (Investment Advisor) ผ่าน Investment  Portfolio

พร้อมวางเป้าหมายผลตอบแทนให้เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละราย บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk appetite) เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้งอกเงย ดีกว่าปล่อยที่ดินรกร้างหรือ ถือหลักทรัพย์ที่มูลค่าลดลงตามภาวะตลาด

ทั้งนี้แม้นักลงทุนจะต้องเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็ตาม แต่ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน สามารถต่อยอดความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้นักลงทุนมีเงินหมุนเวียนในการลงทุน ทั้งนี้ สินเชื่อ Wealth Lending Product เป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.เพื่อใช้จ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะที่ดินรกร้างซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกสามปีตามโครงสร้างของอัตราเพดาน และราคาประเมินกรมที่ดินที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นในอนาคต หลังจากมีการเลื่อนการประกาศราคาประเมินใหม่ เพราะสถานการณ์โควิด ราคาประเมินครั้งสุดท้ายจัดทำขึ้นในรอบปี 2559-2562

โดยคาดว่าจะมีการประกาศราคาประเมินใหม่ในต้นปี 2566  ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนลงทุนหรือใช้ประโยชน์บนที่ดิน ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส (opportunity cost) และค่าภาษีที่ดินที่เกิดขึ้นทุกปี

ดังนั้น นักลงทุนสามารถนำที่ดินมาขอสินเชื่อ Property Backed Loan โดยนำเงินกู้ดังกล่าวไปลงทุนสร้างผลตอบแทน เพื่อนำมาชำระภาษีและลดความกังวลในเรื่องของการหาผู้เช่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และ การปรับปรุงที่ดิน โดยไม่เสียโอกาสหากอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือขายทำกำไรเมื่อโอกาสมาถึง นอกจากนี้ สินเชื่อ Property  Backed Loan มีความยืดหยุ่น  นักลงทุนสามารถชำระคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนดได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการชำระคืนก่อนกำหนด ยกเว้น refinance กับธนาคารอื่น

2.ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เงินเฟ้อ ลูกค้าสามารถนำหุ้นกู้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ลดลง มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อ Lombard โดยนำเงินกู้ที่ได้ไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มีการปรับตัวตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust หรือ REIT) บางประเภท เพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนของพอร์ต หรือช่วยลดผลกระทบของพอร์ตในช่วงนี้ได้

3.ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสภาพคล่องและไม่พลาดเมื่อจังหวะการลงทุนมาถึง นักลงทุนอาจจะไม่ต้องการขายหลักทรัพย์ ประเภทหุ้นกู้ ที่มีผลตอบแทนติดลบในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะตลาดที่ผันผวน และคาดว่าราคาของหลักทรัพย์ จะมีการปรับตัวขึ้นในอนาคต  โดยได้เห็นโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เช่น Private Assets หรือ หุ้นกู้อนุพันธ์ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ และช่วยเพิ่มผลตอบแทน หรือ ลดผลขาดทุนของพอร์ตโฟลิโอในปัจจุบันได้ โดยนักลงทุนสามารถนำหลักทรัพย์มาขอสินเชื่อ Lombard กับธนาคารได้ เพื่อนำเงินกู้ไปลงทุน โดยอยู่ภายใต้การดูแลของทีมที่ปรึกษาการลงทุน

ด้าน นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า สินเชื่อ Wealth Lending Product ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มียอดการขอสินเชื่อเพื่อสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 20% โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตสำหรับปีนี้ไว้ขั้นต่ำที่ 10,000 ล้านบาท และผลตอบแทนคาดการณ์สำหรับความเสี่ยงระดับกลางของพอร์ตการลงทุน มีโอกาสอยู่ที่ประมาณ 7 – 8 % ต่อปี นอกจากนี้ทีมที่ปรึกษาการลงทุนสามารถนำเสนอการลงทุนในหลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุนที่มาใช้สินเชื่อ wealth lending

Back to top button