จับตาหุ้นอาหาร-อิเล็กทรอนิกส์ รับอานิสงส์บาทอ่อนค่าทะลุ 32 บาท/ดอลลาร์

เปิด 13 หุ้นส่งออก ขานรับเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์ ฟากโบรกฯประเมินหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าทุกๆ 1 บาท เป็นบวกต่อกำไรสุทธิเพิ่ม 3-1%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (29 มิ.ย. 2564) ณ เวลา 9.15 น. เงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 32.04 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าในรอบ 13 เดือน ประเด็นสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาทอ่อนค่าจนทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงเป็นประเด็นกังวลสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าจะลดลง

ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้อยู่

นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า ที่อาจเริ่มกังวลต่อแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ก็อาจทำให้ผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์หนุนให้เงินบาทโดยรวมยังทรงตัวในระดับสูงอยู่

นอกจากนี้ในช่วงก่อนหน้าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวได้แค่ 1.8% และปี 2565 อาจขยายตัวลดลงเหลือ 3.9% สะท้อนการฟื้นตัวที่ชะลอลง และยังคาดการณ์ปีนี้ไทยพลิกขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาดว่าจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศระลอก 3 ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า

ทั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าควรจับตาแนวต้านสำคัญของเงินบาทที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เพราะหากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญดังกล่าว ในเชิงเทคนิค ค่าเงินบาทก็อาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสถานการณ์ที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์เช่นนี้ หุ้นกลุ่มหลักที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าเป็นหุ้นกลุ่มส่งออกอย่างเช่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอาหาร

โดย บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าทุกๆ 1 บาท เป็นบวกต่อกลุ่มเกษตร-อาหาร กำไรสุทธิเพิ่ม 3-1% หุ้นเด่น ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU , บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF , บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN , บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ  NER , บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO และ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE

ส่วนกลุ่มชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่ากำไรสุทธิเพิ่ม 3-2% ได้แก่ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI , บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ KCE

ขณะที่ บล.กสิกรไทย แนะนำหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากประเด็นเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงสั้น และมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ KCE และ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG  ซึ่งมีรายได้จากการส่งออกประมาณ 45-50% ของยอดขาย

ท้ายสุด บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาเป็นผลจากการคาดการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง อีกทั้งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปีนี้ลงเหลือ 1.8% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลงในทางทฤษฏีก็มีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าด้วย อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก ซึ่งมองหุ้นที่น่าสนใจลงทุนเป็นหุ้น ได้แก่ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT , บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG , บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA , บริษัท ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ HFT, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และบริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN

Back to top button