WTI ปิดพุ่งแตะ 75.25 ดอลล์ นิวไฮรอบ 2 ปี ขานรับสต็อก “น้ำมันดิบ” สหรัฐฯลดต่อเนื่อง

WTI ปิดพุ่ง 1.60% แตะ 75.25 ดอลล์ นิวไฮในรอบกว่า 2 ปี รับแรงหนุนสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯลดต่อเนื่อง เป็นสัปดาห์ที่ 8 ทำให้ นลท. คลายความกังวลอุปสงส์พลังงานที่อาจชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.64) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8 ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์พลังงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 1.15 ดอลลาร์ หรือ 1.60% ปิดที่ 75.25 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2561

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.33 ดอลลาร์ หรือ 1.80% ปิดที่ 76.49 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.ปีนี้

เนื่องด้วยสัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นขานรับการคาดการณ์ที่ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยนักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล แพลทส์คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 4.90 ล้านบาร์เรลในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8

นอกจากนี้นักวิเคราะห์คาดว่า สต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 1.60 ล้านบาร์เรล แต่คาดว่าสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงน้ำมันดีเซลและฮีทติ้งออยล์จะเพิ่มขึ้น 1.30 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยรายงานสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์ในวันนี้ เวลา 21.30 น.ตามเวลาไทย

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัส หลังจากโอเปกพลัสได้เลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน

รวมทั้งรายงานระบุว่าซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเสนอให้เพิ่มกำลังการผลิตรวม 2 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้ทยอยปรับเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนส.ค.ไปจนถึงเดือนธ.ค.2564 และขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตที่เหลือไปจนถึงปลายปี 2565

ส่วนทางด้าน UAE ได้คัดค้านข้อเสนอดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ในการกำหนดระดับการผลิตขั้นต่ำ เนื่องจาก UAE ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายน้ำมัน หลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

Back to top button