สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 ก.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 ก.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (16 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลง อาทิ หุ้นแอมะซอน และหุ้นกูเกิล ขณะที่นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นในสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,687.85 จุด ลดลง 299.17 จุด หรือ -0.86%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,327.16 จุด ลดลง 32.87 จุด หรือ -0.75% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,427.24 จุด ลดลง 115.90 จุด หรือ -0.80%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเมื่อวันศุกร์ (16 ก.ค.) เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ร่วงลง ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ การเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 454.74 จุด ลดลง 1.46 จุด หรือ -0.32% และปรับตัวลง 0.60% ในรอบสัปดาห์นี้

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,460.08 จุด ลดลง 33.28 จุด หรือ -0.51%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,540.31 จุด ลดลง 89.35 จุด หรือ -0.57% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,008.09 จุด ลดลง 3.93 จุด หรือ -0.06%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อวันศุกร์ (16 ก.ค.) และปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 1 เดือน โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่, กลุ่มธนาคาร, กลุ่มเดินทาง และกลุ่มพลังงาน ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของโรคโควิด-19

ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,008.09 จุด ลดลง 3.93 จุด หรือ -0.06% และลดลง 1.60% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 1 เดือน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (16 ก.ค.) แต่ร่วงลงในรอบสัปดาห์นี้มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยถูกกดดันจากความเป็นไปได้ที่ผลผลิตน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นในตลาดโลก และมีความเสี่ยงที่อุปสงค์จะลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 16 เซนต์ หรือ 0.22% ปิดที่ 71.81 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ร่วงลง 3.70% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 12 เซนต์ หรือ 0.16% ปิดที่ 73.59 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 2.60% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (16 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดนั้น ยังกระตุ้นให้นักลงทุนขายสัญญาทองคำออกมาเพื่อลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 14 ดอลลาร์ หรือ 0.77% ปิดที่ 1,815 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 0.20% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 59.90 เซนต์ หรือ 2.27% ปิดที่ 25.795 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 29.20 ดอลลาร์ หรือ 2.57% ปิดที่ 1,108.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 92.00 ดอลลาร์ หรือ 3.40% ปิดที่ 2,637.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (16 ก.ค.) โดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.07% แตะที่ 92.6904 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.07 เยน จากระดับ 109.81 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9195 ฟรังก์ จากระดับ 0.9180 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2605 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2608 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1809 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1806 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3768 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3810 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7400 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7418 ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button