กกร.หั่น GDP ไทยปี 64 เหลือ -1.5% หลังโควิดวิกฤตหนัก

กกร.ปรับลด GDP ไทยปี 2564 เหลือ -1.5% หลังโควิดยังวิกฤตหนัก รวมถึงจำนวนผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ทำให้ภาครัฐต้องขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัด


นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็น -1.5 % ถึง 0.0% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ

ด้านการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 10.0% ถึง 12.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลห่วงโซ่การผลิตไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง โดยภาครัฐให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงานอย่างทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2% โดยมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบกับต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า

โดยที่ประชุมฯ มีการหารือกันแล้วมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปีจากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบตลอดครึ่งปีหลัง การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ประสบความสำเร็จ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน รวมถึงจำนวนผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูง แม้จะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์มา 14 วันแล้วก็ตาม ทำให้ภาครัฐต้องขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัด

ทั้งนี้ หากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่งประเทศยังทำได้ช้า ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่ยังต้องจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดไตรมาสที่ 4 รวมถึงลดทอนความเป็นไปได้หรือประโยชน์ของแผนการเปิดประเทศ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก และเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สองแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งก็ตาม

ด้านประธาน กกร. กล่าวว่า ธุรกิจทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาคการส่งออก ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายาวนานจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และลูกจ้างแรงงาน สะท้อนจากลูกหนี้ที่อยู่ในการดูแลช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.89 ล้านบัญชี หรือเป็นยอดเงินราว 2 ล้านล้านบาท โดยในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว และการค้าขายทั่วไป ที่เปราะบางแล้ว การระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันบูรณาการมาตรการการจำกัดวงจรของการระบาด โดยการเร่งหาวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้โดยเร็ว และการเร่งกระจายการตรวจหาเชื้อโดย Antigen Test Kit เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อโดยเร็ว

Back to top button