20 หุ้น mai ทะยานไม่หยุด! 7 เดือนแรกฟันรีเทิร์นเกิน 100%

20 หุ้น mai ทะยานไม่หยุด! 7 เดือนแรกฟันรีเทิร์นเกิน 100% นำโดย NCL, UKEM, KWM, IMH, UMS, KUMWEL, MVP, SONIC, KUN, PJW, TPLAS, CIG, BIZ, PLANET, HEMP, ARIN, ARIP, PROS, PPM, ADB, FVC, KK, DHOUSE, KCM, ICN, UEC, NDR, SPVI, COMAN และ INSET


ทิศทางตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนก.ค. 64 SET Index ปิดที่ 1,521.92 จุด ลดลง 4.1% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยใน 7 เดือนแรกปี 64 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 5.0% ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆในภูมิภาค

โดยเดือนก.ค. 64 หลายอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 63 ได้แก่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มบริการ

ขณะเดียวกันหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ mai เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาหุ้นหลายตัวทะยานขึ้นแรงไม่หยุด

ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น mai ราคาปรับตัวขึ้นแรง 7 เดือนแรกปี 2564 โดยเปรียบเทียบข้อมูลราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.63-30 ก.ค.64 และคัดเลือกหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงเกิน 100% มานำเสนอและจะเลือกนำเสนอข้อมูลประกอบ 5 อันดับแรกของตารางดังนี้

อันดับ 1 บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NCL ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 431% จากระดับ 0.73 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 3.88 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 คาดเก็งกำไรหุ้นเล็กเทคนิคขาขึ้น และลุ้นผลงานฟื้นตัวต่อเนื่องหลังไตรมาส 1/2564 พลิกมีกำไร 20.01 ล้านบาท

ล่าสุด NCL ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/64พลิกกลับมามีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 21.34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 222.18 % จากงวดเดียวของปีก่อนขาดทุนก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 17.46 ล้านบาท และยอดสะสม 6 เดือน ปี 2564 มีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 44.71 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 381.82% จากงวด 6 เดือนของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 15.87 ล้านบาท

ขณะที่รายได้รวม 6 เดือนสะสมอยู่ที่ 691 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43.27% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 48.23 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากบริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้จากการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้น และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี จึงทำให้มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 57.76%

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก ตามแนวโน้มธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ที่ขยายตัวตามสถานการณ์การค้าโลก และธุรกิจบริษัทย่อยหนุน ซึ่งส่งผลบวกโดยตรงต่อ NCL ทั้งในแง่ของรายได้ และกำไรที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีแผนในการขยายธุรกิจด้าน Non-Logistic ที่มีศักยภาพในอนาคต อาทิเช่น ธุรกิจ Digital Content รวมถึงการเข้าร่วมประมูลงานต่างๆ จากภาครัฐ และโปรเจกต์กัญชง-กัญชา เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติเพื่อบันทึกข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในการสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ร่วมกับคณะเกษตร มหาลัยเกษตรศาสตร์ โดยลงทุนเรื่องการปลูก สกัด และจำหน่าย กัญชง กัญชา ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ธุริกจของ NCL มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศให้หลักรัพย์ NCL เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับ 2 : Cash Balance ตั้งแต่ 16 ส.ค.-3 ก.ย.2564

 

อันดับ 2 บริษัท ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ UKEM ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 408.57% จากระดับ 0.70 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 3.56 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้อหุ้นขนาดเล็ก และสัญญาณทางเทคนิคเป็นขาขึ้น อีกทั้งผลประกอบการบริษัทมีแนวโน้มสดใส

ล่าสุดบริษัทประกาศงบไตรมาส 2/64 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีกำไรสุทธิ 24.98 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 10.98 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรก ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 80.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 52.80 ล้านบาท

โดยรายได้จากการขายไตรมาสที่ 2/2564 เป็นจำนวน 1,453.72 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีรายได้จากการขาย 1,339.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114.46 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.55 เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ทั่วไป

อีกทั้งค่าใช้จ่ายทางการเงินไตรมาสที่ 2/2564 จำนวน 5.12 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางการเงิน 7.20ล้านบาท ลดลง 2.07 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.80 เนื่องมาจากสินเชื่อธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

โดยก่อนหน้านี้นายพีรพล สุวรรณนภาศรี กรรมการผู้จัดการ UKEMเปิดเผยว่า ผลประกอบการทั้งปี บริษัทคาดว่ารายได้จะสามารถเติบโตได้ 10-15% จากปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้อุตสากรรมต่างๆ กลับมาฟื้นตัว โดยจะเห็นได้ชัดจากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ หนุนให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีมากขึ้นด้วย

อนึ่ง UKEM นำเข้าและจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ โดยสินค้าประกอบด้วยสารทำละลาย (Solvents) ซึ่งเป็นสินค้าที่จำหน่ายทั่วไป (Commodity Solvent) สำหรับใช้เป็นสารทำละลายซึ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้ UKEM เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย (Cash Balance) ระดับ 1 โดยมีผลตั้งแต่ 4 ส.ค. 64 – 24 ส.ค.64

 

อันดับ 3 บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 390.65% จากระดับ 1.07 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 5.25 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้อหุ้นขนาดเล็ก และสัญญาณทางเทคนิคเป็นขาขึ้น อีกทั้งผลประกอบการบริษัทมีแนวโน้มสดใส

ล่าสุดบริษัทฯผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิ 50.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.84 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 132.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มียอดขายเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าใบเกลียวที่เพิ่มขึ้น จากงวดเดียวกันถึงร้อยละ 113.53

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 156.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.40 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 31.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิ 25.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.75 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 51.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)จาการเติบโตของรายได้จากการขายสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์

ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนเดิมจากไตรมาส 1/2564 ทั้งสภาพอากาศโดยไปที่เอื้ออำนวย ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้สถานการณ์การผลิตพืชดีกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต โดยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาขาพืชขยายตัวร้อยละ 2 และสาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.5

นอกจากนี้ นางสาวติยาภรณ์ วนโกสุม กรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงเพิ่มเติมว่าจากตัวเลขผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่ออกมาดี ส่งผลให้บริษัทปรับเป้ารายได้ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 40% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 15-20% เมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีรายได้ 355.06 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามบริษัทคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าผลผลิตทางการเกษตรจะมีออกมาค่อนข้างมากเนื่องจากน้ำ ดีและมีคุณภาพ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และความผันผวนของเงินบาท

KWM เป็นผู้นำด้านการผลิตเครื่องสกัดระบบ SUPERCRITICAL FLUID CO2 EXTRACTION กัญชง-กัญชา และสมุนไพรไทย สัญชาติไทยเป็นรายแรกของประเทศว่า หลังจากที่บริษัทฯมียอดออเดอร์พร้อมติดตั้งเครื่องสกัดฯเข้ามาแล้วจำนวน10 เครื่องช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุดบริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจาในการผลิตเครื่องจักรเพื่อติดตั้งและส่งมอบให้กับพันธมิตรรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปได้ในเร็วๆนี้ พร้อมทั้งนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าสกัดสารสกัดจากกัญชง-กัญชา และพืชกระท่อม เพื่อมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ ยา อาหารและเครื่องดื่ม อย่างต่อเนื่องซึ่งแผนธุรกิจดังกล่าวจะเริ่มเห็นชัดเจนภายในครึ่งปีหลังนี้อย่างแน่นอน

 

สำหรับอับดับ 4 คือ บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 351% จากระดับ 2.18 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 9.05 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 เนื่องจากเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ใช้บริการตรวจโควิดเพิ่มขึ้นและได้ปัจจัยบวกทั้งได้รับเลือกเป็นสถานพยาบาลฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” สำหรับรอบประชาชนทั่วไป จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทำให้แนวโน้มผลประกอบการเติบโตโดดเด่น ทำให้ราคาหุ้นทะยานแรงในช่วงดังกล่าว

ล่าสุด IMH รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 91.78 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันไตรมาส 2/63 ขาดทุน 17.05 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทฯมีรายได้รวม 214.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  182.06 ล้านบาทท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 566.63 เมื่อเทียบกบัไตรมาสเดียวกนัของปีก่อน การเพิ่มขึ้นของรายได้และการลดลงของอัตราค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น

เนื่องจากการเข้าซื้อธุรกิจ บริษัท สุขสวัสดิ์ การแพทย์ จำ กัด (โรงพยาบาลประชาพัฒน์) ซึ่งบริษัทซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้กลุ่มบริษัทเข้าสู่การประกอบธุรกิจโรงพยาบาลแบบครบวงจร ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีผู้เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 และรับการรักษาในโรงพยาบาลประชาพัฒน์เป็นจำนวนมาก

โดยนายสิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IMH เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯประสบความสำเร็จในการจำหน่ายชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ชนิด Antigen Swab รวมถึงการให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิดแบบละเอียด (IgG ll Quanti) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างมาก

ล่าสุด IMH ได้เซ็นสัญญาพันธมิตรกับ บริษัท อาร์เค เมดเทค ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำเข้าอุปกรณ์ชุดตรวจโควิดด้วยน้ำลาย (Saliva Antigen Test Kit) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ Nanacarbon Assay ซึ่งผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวถูกต้องตรงตามมาตรฐานระดับสากลของโรงพยาบาล การใช้งานเพียงจุ่มชุดเครื่องมือในน้ำลายก็สามารถรู้ผลได้ภายใน 15 นาที

ชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยน้ำลายแบบใหม่ (Saliva Antigen Test Kit) สามารถเริ่มทำการตลาดและจัดจำหน่ายได้ทันที วางตลาดที่ราคา 365 บาท/ชุด โดยบริษัทฯได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 50,000 ชุด ขณะที่ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ชนิด Antigen Swab  ตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 ชุด ส่วนการให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิดแบบละเอียด (IgG ll Quanti)  ตั้งเป้ารองรับผู้เข้ารับบริการได้มากกว่า 100,000 คน

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลให้ภายในไตรมาส 3/64 บริษัทฯจะมีรายได้จากการขายและการให้บริการ ประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ IMH มีรายได้ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งเป็นการตอกย้ำให้ IMH ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการตรวจโควิด-19 แบบครบวงจร

 

อันดับ 5 หุ้น บริษัท คัมเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KUMWEL ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 269.09% จากระดับ 1.10 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 4.06 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 เนื่องจากนักลงทุนข้ามาเก็งกำไรหุ้นเล็กตามสัญญาณเทคนิคขาขึ้น

ขณะที่ผลประกอบการล่าสุด KUMWEL รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 6.90 ล้านบาท ลดลง 29% จากไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 9.83 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนแรกอยู่ที่ 22.67 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.91 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนขายและบริการในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เท่ากับ 54.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.88 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 50.84 ล้านบาท ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 44.88 ในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นร้อยละ 42.83 จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และมูลค่าสินค้าด้อยค่าที่ลดลงน้อยกว่างวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ต้นทุนขายและบริการเท่ากับ 116.51 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.88 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 42.13 ในครึ่งปีแรก 2563 เป็นร้อยละ 44.26 โดยมีสาเหตุหลักมาจากกระบวนการปรับลดลงต้นทุนการผลิตสินค้าของบริษัท แม้ว่าราคาวัตถุดิบจะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม

อนึ่งก่อนหน้านายบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KUMWEL เปิดเผยว่า ทางบริษัทยังคงมองภาพรวมในครึ่งปีหลัง เชื่อว่าน่าจะทำตามเป้า 550 ล้านบาทได้ หากสถานการณ์คลี่คลาย โครงการก็เดินต่อ นวัตกรรมมีการตอบรับ และออกใบสั่งซื้อ หรือสินค้าได้ออกมาตรฐาน มอก. ที่จะได้รับ ต้นไตรมาส 3 ก็มีใบรับรอง จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าไว้ เป้ายังคงเดิม

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา บริษัทได้รับคัดเลือกติดต้งระบบ Integrated Earthing System 3 สัญญา ส่วนอีก 2 สัญญาอยู่ระหว่างติดตามเสนอราคากับผู้รับเหมา และอีกสัญญาอยู่ระหว่างรออนุมัติเรื่องสิ่งแวดล้อม คาดว่าไตรมาส 3/2564 จะมีการเซ็นสัญญาและเริ่มติดตั้งได้แม้ว่าล่าช้าจากแผนบ้าง โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 40 ล้านบาท และในปี 2565 ประมาณ 60 ล้านบาท

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button