พบแล้ว! เดลตาสายพันธุ์ย่อย 4 ตัวในไทย กรมวิทย์ฯยังไม่ยืนยันดื้อวัคซีน ?

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย พบผู้ป่วยโควิดเดลตา สายพันธุ์ย่อย 4 ตัว 14 ราย ใน 8 จังหวัด ย้ำกระบวนการรักษายังเหมือนเดิม


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ 24 ส.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าว พบสายพันธุ์ย่อยของเดลต้าในไทย”

โดยนพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจเชื้อในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา 92.90%  ขณะที่กทม.พบสายพันธุ์เดลตา 97%  อย่างไรก็ตามปัจจุบันตรวจพบสานพันธุ์ดังกล่าวในทุกจังหวัดของประเทศไทย ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ มีการตรวจพันธุ์กรรมทั้งตัว พบการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ต้องจับตาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่

ขณะที่ดร.วสันต์ กล่าวว่า ทั่วโลกมีการจัดระเบียบสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด -19 และมีการศึกษาวิวัฒนาการของไวรัส เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละตำแหน่ง ดูการกลายพันธุ์เรื่อยๆ พบว่า เชื้อเดลตากลายพันธุ์หลุดออกมามากกว่า 60 ตำแหน่ง จาก 30,000 ตำแหน่ง มีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมากขึ้น มีสายพันธุ์ย่อยของเดลตาเยอะ ตั้งแต่ AY.1 –  AY.22 มีการขยายไป 20 สายพันธุ์ย่อย สำหรับข้อมูลเฉพาะประเทศไทย เดลตาพบสายพันธุ์ย่อย AY.4 พบที่จังหวัดปทุมธยานี 4 ราย สายพันธุ์ย่อย AY.6 พบในประเทศไทย แต่ไม่ได้ระบุพื้นที่ที่พบ 1 ราย สายพันธุ์ย่อย AY.10 พบในกทม. 1 ราย และสายพันธุ์ย่อย AY.12 พบที่ กทม.ย่านพญาไท 1 ราย ทั้งนี้ ต้องจับตาว่าจะเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ โดยไทยต้องจับตา AY.4  เพราะพบค่อนข้างมาก

ทั้งนี้บรรดาสายพันธุ์ย่อยยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าจะดื้อต่อวัคซีนแต่อย่างใด ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่าเชื้อจะมีการกลายพันธุ์หลบวัคซีนหรือไม่ ส่วนเรื่องการส่งผลต่ออาการหรือการรักษานั้นดร.วสันต์ ระบุว่า การติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดการรักษายังเหมือนกัน ย้ำว่า ยังไม่ใช่สายพันธุ์ไทย

ด้านนพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตามีการอัพเดตตลอด โดยล่าสุด อัพเดตข้อมูล ณ วันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ทราบว่า มีสายพันธุ์ย่อย AY.20 กว่าตัว แต่ยังไม่พบเชื้อเดลตาพลัสที่เจอในอินเดีย ทั้งนี้สายพันธุ์ย่อยที่พบในไทยมีการกลายพันธุ์จำเพาะแต่ละสายพันธุ์ โดยจากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งตัว 1,955 ตัวอย่างสุ่มตรวจตั้งแต่ พ.ค. 64 พบว่า เป็นอัลฟา 71% เดลตา 23 % ล่าสุด AY.4 พบ 9 ตัวอย่าง พบมากสุดที่ จ.ปทุมธานี 4 ตัวอย่าง จ.บุรีรัมย์ กำแพงเพชร เชียงใหม่ สมุทรปราการ และ จ.ชลบุรี จังหวัดละ 1 ตัวอย่าง AY.6 ราย ที่ กทม. AY.10 พบ 1 ตัวอย่างที่กทม. และ AY.12 พบ ที่ จ.สุราษฎรธานี 2 ตัวอย่าง และกทม. 1 ตัวอย่าง ทั้งหมดพบตั้งแต่มิ.ย.- ส.ค. ดังนั้นต้องเฝ้าระวังต่อเพราะยังไม่ทราบว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่แต่ยังไม่มีการกระจายไปทั่ว ซึ่งหลังจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะถอดรหัสจนสิ้นปี 64 ตั้งเป้าไว้ที่ 6,000 ตัวอย่าง

Back to top button