“กลุ่มแบงก์” สัญญาณดีสินเชื่อก.ค.ขยายตัว-หวนปันผล โบรกฯชู SCB-BBL-KBANK เด่นสุด-ต่ำบุ๊ก

“กลุ่มแบงก์” สัญญาณดีสินเชื่อก.ค.ขยายตัว-หวนปันผลแกร่ง โบรกฯชู SCB-BBL-KBANK เด่นสุด-ราคาต่ำบุ๊ก อัพไซด์กระฉูดเกิน 50%


บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์(25 ส.ค. 2564) ว่า “กลุ่มแบงก์” งบดุลโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2564 ยังเป็นเช่นเดียวกับเดือนมิถุนายน 2564 โดยธนาคารส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังกับการขยายสินเชื่อ แต่เลือกคงสถานะในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำในตลาดเงิน และพอร์ตการลงทุน

ทั้งนี้ จากสถานกาณณ์ COVID-19 ที่รุนแรงในเดือนกรกฎาคม ทำให้มีความต้องการมาตรการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อ H/P และสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับในระยะต่อไป โดยคาดว่าสถานการณ์จะยังคงอ่อนแอในเดือนสิงหาคม และจะดีขึ้นในเดือนกันยายนตามยอดฉีดวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อ เนื่องจากรัฐบาลมีการตั้งงบสำหรับ soft loan เอาไว้ สินเชื่อจึงอาจจะฟื้นตัวได้

อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นสัญญาณว่าสถานการณ์ดีขึ้นจะทำให้สินเชื่อของรัฐบาลตามโครงการช่วยเหลือเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยคลายแรงกดดันด้านคุณภาพสินเชื่อของธนาคารลง มองว่ามีสัญญาณชัดเจนหุ้นธนาคารใหญ่น่าจะฟื้นได้เร็วกว่าธนาคารเล็กเนื่องจากราคหุ้นยังถูก 

ธนาคารส่วนใหญ่มีเงินฝากไหลเข้าเพิ่มขึ้น โดย KTB เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายธนาคาร พบว่า KTB มีเงินฝากไหลเข้ามาที่สุด (+3.4% เทียบเดือนก่อนหน้า และ +5% เทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน) รองลงมาคือ KBANK และ  BBL (โตเท่ากันที่ +1.2% เทียบเดือนก่อนหน้า และ 7% เทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน)

ธนาคารนำเงินฝากที่ไหลเข้าส่วนใหญ่ไปปล่อยกู้ในตลาดเงิน ในขณะที่สถานการณ์ลงทุนในพอร์ตลงทุนยังค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า การที่ KTB มีเงินฝากไหลเข้าจำนวนมาก จึงปล่อยกู้ในตลาดเงินมากตามไปด้วย

โดยสถานะการปล่อยกู้ในตลาดเงินเพิ่มขึ้นถึง 34% เทียบเดือนก่อนหน้า และ 36% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันคิดว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการที่ KTB ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนการสำหรับกิจกรรมของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในช่วงที่ COVID-19 ระบาด

นำสภาพคล่องส่วนเกินไปปล่อยกู้ในตลาดเงิน และขยายพอร์ตการลงทุน คิดว่าการที่มีเงินฝากไหลเข้า BBL และ KBANK เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการที่ลูกค้าส่วนใหญ่ปรับสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ในช่วงที่ COVID-19 ระบาด โดยลดการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง มาเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ/เงินฝากธนาคารแทน สถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในไตรมาส 2/2563 ตอนที่ COVID-19 ระบาดระลอกแรก ทั้งนี้ BBL นำสภาพคล่องส่วนเกินจากเงินฝากที่ไหลเข้าไปขยายพอร์ตการลงทุน ในขณะที่ KBANK นำไปปล่อยกู้ในตลาดเงิน

สินเชื่อของ KBANK, BBL และ KTB  ขยายตัว ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดหนักในระลอกสามช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และธนาคารส่วนใหญ่ขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวัง แต่สินเชื่อของ KBANK ยังขยายตัวในระดับเดิมที่ +2% เทียบเดือนก่อนหน้า และ 8% เทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน

ในขณะที่สินเชื่อของ KTB สะท้อนถึงการปล่อยกู้ให้กับภาครัฐ ส่วนสินเชื่อของ BBL ขยายตัวเพียงเล็กน้อย +<1% เทียบเดือนก่อนหน้า และ 2% เทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันในขณะที่ของ SCB, TISCO และ KKP ลดลงเล็กน้อย เทียบเดือนก่อนหน้า แต่ยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน

สัญญาณของกลุ่มธนาคารมีทั้งบวกและลบหลังจากที่ COVID-19 กลับมาระบาดหนักในระลอกที่สามช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป มองว่า SCB เตรียมตัวไว้พร้อมสำหรับโครงการผ่อนผันหนี้ของ ธปท. ที่เปิดช่องให้ธนาคารคงสถานะสินเชื่อ และยอดกันสำรองเอาไว้เท่าเดิมได้ โดย SCB ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 1.43 บาท/หุ้น แสดงถึงการบริหารเงินทุนและคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี

อย่างไรก็ตาม KBANK ประกาศแผนออกพันธบัตรแบบไม่มีกำหนดอายุ (perpetual bond) 350 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ซึ่งแสดงถึงสัญญาณลบในด้านความเพียงพอของเงินกองทุน

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ COVID-19 พลิกมาเป็นบวก ชอบหุ้นธนาคารใหญ่มากกว่า และเพิ่ม SCB เข้ามาในรายการหุ้นเด่นของในกลุ่มธนาคร รองลงมาคือ BBL และ KBANK ตามลำดับ

ด้านทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” รวบรวมกลุ่มหุ้นธนาคารเตรียมจ่ายปันผลระหว่างกาลปี 2564 มีดังนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท วันที่ 24 ส.ค.2564 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลจากกำไรสะสม เป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 1.43 บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 6 ก.ย.2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 ก.ย.2564

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท วันที่ 25 ส.ค.2564 มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลจากกำไรสะสม เป็นเงินสดในอัตรา 0.40 บาท/หุ้น กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 7 ก.ย.2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 ก.ย.2564

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP บริษัทเตรียมปันผลระหว่างกาลจากงวดดำเนินงานวันที่ 01 ม.ค. 2564 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 เป็นเงินสด 0.75 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล หรือ XD วันที่ 8 ก.ย. 64 และกำหนดจ่ายปันผล 24 ก.ย.64

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลจากกำไรสะสม เป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 8 ก.ย. 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 ก.ย. 2564

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลจากกำไรสะสม เป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 8 ก.ย. 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 ก.ย. 2564

Back to top button