KTIS จ่อบุ๊กรายได้ “บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย-นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส1” ปี 65 หนุนผลงานโตเด่น

KTIS คาดผลผลิตอ้อยปี 64/65 เพิ่มขึ้นกว่า 25% จ่อบุ๊กรายได้ธุรกิจใหม่ “บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย-นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส1” หนุนผลงานปี 65 โตแกร่ง


นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า จากการประเมินผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูการผลิตปี 2564/2565 ซึ่งจะเข้าหีบในปลายปีนี้ พบว่า ได้รับผลดีจากการที่มีปริมาณฝนในพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าปีก่อน โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 25% ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจทั้งการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ซึ่งจะมีวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตมากขึ้น

ถ้าเราได้วัตถุดิบหลักคืออ้อยในปริมาณมากขึ้น รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็จะดีขึ้นทั้งหมด เพราะจะมีโมลาสที่นำไปผลิตเอทานอลมากขึ้น มีชานอ้อยที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และมีชานอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษมากขึ้นด้วย เมื่อประกอบกับราคาขายน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษ ที่มีแนวโน้มที่ดี จากดีมานด์ที่สูงขึ้นหลังการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2565 นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2565 กลุ่ม KTIS จะเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย คือ โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 50 ตันต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น รวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายหลอดชานอ้อยซึ่งออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

สำหรับรายได้ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งจะมาจากโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม KTIS และ GGC ซึ่งมีโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 3 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 85 เมกะวัตต์

นับตั้งแต่ที่บริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2557 พร้อมกับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ หลายโครงการ ก็ต้องนับว่าปี 2565 ที่จะถึงนี้ เป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของกลุ่ม KTIS เพราะมีการรับรู้รายได้จากการขยายการลงทุน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์เดิมด้วย เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยและหลอดชานอ้อย ที่สามารถเพิ่มมูลค่าของเยื่อชานอ้อยให้สูงขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว หรือการจำหน่ายแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ แบรนด์ KNAS ก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของโรงงานผลิตเอทานอล และยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสังคม ทำให้ประชาชนได้มีแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคใช้ในราคาที่เป็นธรรมอีกด้วย” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

Back to top button