TU ผนึก RBF รุกสมาร์ทฟู้ดส์โลก โบรกมอง “วิน-วิน” ทั้งคู่ หนุนผลงานโตยาว

TU ทุ่มงบลงทุน 3 พันล้านบาท ซื้อบิ๊กล็อตหุ้น RBF สัดส่วน 10% หวังซินเนอร์ยี่รุกสมาร์ทฟู้ดส์โลก โบรกฯ มองบวก “วิน-วิน” ทั้งคู่ เชียร์ “ซื้อ” TU เป้า 27 บ. และ RBF เป้า 29 บ. หนุนผลงานโตยาว


นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF จำนวน 200 ล้านหุ้น คิดเป็น 10% เป็นมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ทั้งวัตถุแต่งรส สี และสารปรุงแต่งอาหารหลากหลายชนิด โดยการลงทุนครั้งนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างสองบริษัทมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่ง RBF ได้จัดหาส่วนผสมอาหารที่ได้คุณภาพให้กับ TU

สำหรับการลงทุนในครั้งนี้ จะช่วยสร้างโอกาสและความเติบโตให้กับ TU ในธุรกิจส่วนผสมในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดผู้บริโภคในอาเซียนที่ต้องการสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น RBF มีความเชี่ยวชาญในนวัตกรรมผลิตส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ เช่น วัตถุแต่งกลิ่นธรรมชาติ หรือสารสกัดจากกัญชง จะช่วยเสริมทั้งในส่วนของสินค้าหลักและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของ TU รวมไปถึงสินค้าโปรตีนทางเลือกและอาหารสัตว์เลี้ยง

ส่วน RBF ความร่วมมือในครั้งนี้ยังช่วยเปิดโอกาสให้ RBF ได้เข้ามาจัดหาส่วนผสมอาหารและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของ TU ตลอดจนสามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศผ่านเครือข่ายธุรกิจของ TU ที่มีอยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ทั้งสองบริษัทยังมีวิสัยทัศน์ในด้านนวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค และต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับคู่ค้าทางธุรกิจ

“หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของไทยยูเนี่ยน คือ การขยายธุรกิจไปสู่การเติบโตและการทำกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ตอบโจทย์กลยุทธ์ดังกล่าวของบริษัท โดยทาง RBF เองมีประสบการณ์มากกว่าสามทศวรรษในธุรกิจวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย ไทยยูเนี่ยนมีความยินดีที่ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับ RBF และหวังว่าจะได้ร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นไปทั่วโลก ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งด้านรสชาติและโภชนาการ ด้วยนวัตกรรมของทั้งสองบริษัท” นายธีรพงศ์ กล่าว

ส่วนนายสมชาย รัตนภูมิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RBF กล่าวว่า เชื่อมั่นความร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างความได้เปรียบและความแข็งแกร่งให้กับทั้งสองบริษัท ด้วยประสบการณ์มากกว่า 35 ปีของบริษัทในธุรกิจ จะช่วยเสริมทัพให้กับผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยน และด้วยธุรกิจของไทยยูเนี่ยนที่มีอยู่ทั่วโลก จะช่วยเสริมศักยภาพของ RBF ในการก้าวกระโดดจากธุรกิจส่วนผสมในอาหารระดับภูมิภาค ไปสู่ระดับโลกต่อไป

ด้านนายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน RBF กล่าวว่า การที่ TU เข้ามาซื้อหุ้น RBF เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นนวัตกรรมให้เป็น Smart Food Ingredient หรือ อาหารแห่งอนาคต รวมถึงคาดหวังจะทำให้ RBF มีโอกาสที่จะขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศประมาณ 15% โดยมีตลาดอยู่ในแถบเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น เพื่อขยายไปยังตลาดของ TU ที่มีอยู่ทั่วโลก อย่างในแถบยุโรป เป็นต้น

สำหรับการขายหุ้น RBF ของกลุ่มนายสมชาย รัตนภูมิภิญโญ ให้ TU ที่เป็นบริษัทระหว่างประเทศ (International Company) น่าจะเห็นโอกาสในการเติบโตที่ดีทางธุรกิจในอนาคต จึงได้ยอมขายหุ้นในราคาที่ถูกกว่าราคาในกระดาน เพื่อแลกกับการได้พันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) ที่ดี ที่จะช่วยให้ RBF มีการขยายตลาดในต่างประเทศได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มนายสมชาย รัตนภูมิภิญโญ ยังถือหุ้น RBF รวมประมาณ 61% โดยยังคงเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท

โดยบริษัทได้รับแจ้งจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 จะมีการขายหุ้น RBF ผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจำนวนรวม 200 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 10% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท โดยมีขนาดรายการประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งรายการดังกล่าวเกิดจากการขายหุ้น โดยนางเพ็ชรา รัตนภูมิภิญโญ และนายสมชาย รัตนภูมิภิญโญ ขายออกรายละ 5% ทำให้หลังทำรายการผู้ถือหุ้นทั้ง 2 รายจะเหลือถือหุ้นรายละ 22.80% จากเดิมถือหุ้นอยู่รายละ 27.80%

ทั้งนี้ บริษัทได้รับแจ้งจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทว่าการขายหุ้นในครั้งนี้เป็นการขายให้กับ TU โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการเข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) กับบริษัท โดยธุรกรรมครั้งนี้นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจในการร่วมพัฒนาและผลิตวัตถุดิบอาหาร เช่น วัตถุแต่งกลิ่นจากธรรมชาติให้กับธุรกิจภายใต้กลุ่มของ TU อีกทั้งเป็นโอกาสในการผลักดันและส่งเสริมแผนขยายธุรกิจของบริษัทในต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งในอนาคตของบริษัท โดย TU จะเสนอตัวแทนเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการบริษัทเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในพันธมิตรทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามการขายหุ้นของบริษัทในครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารจัดการและนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 พบว่ามีการทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานใหญ่ (Big Lot) ของ RBF จำนวน 4 รายการ จำนวนหุ้นรวม 200 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 15 บาทต่อหุ้น รวมเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้  จำกัด ประเมินว่า การที่ TU ประกาศลงทุน 10% ใน RBF โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งขนาดรายการไม่ใหญ่ คิดเป็นประมาณ 2% ของสินทรัพย์ของ TU ทั้งนี้จะเป็นการยกระดับความร่วมมือกับ RBF จากเดิมที่เป็นพันธมิตรทางการค้า (Commercial Partner) เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นนวัตกรรม (Innovation) ตรงตามเป้าหมายระยะยาวของ TU ที่จะให้ความสำคัญกับ Innovation มากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มี Innovation ซึ่งมีอัตรากำไรสูง ขณะที่ RBF จะได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ที่ TU มีฐานธุรกิจและคู่ค้าอยู่

ดังนั้น ด้วยมุมมองที่เป็นบวกต่อการเติบโตในระยะยาว จึงแนะนำ “ซื้อ” TU พร้อมปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 27 บาท อิงอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (PER) เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ 17 เท่า

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า TU ซื้อ RBF สัดส่วน 10% สำหรับ TU มีมุมมองเป็นบวก ช่วยต่อยอดการขยายธุรกิจปลายน้ำ โดย TU อยู่ระหว่างรุกธุรกิจที่เน้นมาร์จิ้นสูงเป็นหลัก ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food), วัตถุดิบ (Ingredient), Supplement และโปรตีนจากพืช (Plant based protein) ซึ่งทั้ง 4 ธุรกิจดังกล่าว สอดคล้องกับธุรกิจของ RBF ได้เป็นอย่างดี จากความเชี่ยวชาญในเรื่องของกลิ่นและรสปรุงแต่งผสมอาหารของ RBF รวมถึงธุรกิจกัญชงที่จะเข้ามาในอนาคต โดยธุรกิจที่มีการทำงานร่วมกัน (Synergy) มากสุดคือ Supplement และอาหารโปรตีนทางเลือก (Plant based food)

ขณะที่ ในเชิงของการเงิน (Financial) ดีลครั้งนี้จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของ TU อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเข้าถือหุ้นเพียง 10% บริษัทจะรับรู้รายได้เป็นเงินปันผล ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะได้รับเงินปันผลประมาณ 60-70 ล้านบาท โดยหากตั้งสมมติฐานว่ากู้เงินมาซื้อคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3% จะมีดอกเบี้ยจ่ายต่อปีเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้คงคำแนะนำ “ซื้อ” TU ราคาเป้าหมาย 25 บาท อิง PER ปี 2564 ที่ 18 เท่า และคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 7,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน และคาดกำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 7,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน

สำหรับ RBF ก็มีมุมมองเป็นบวก โดย RBF จะได้ประโยชน์จากออเดอร์ที่เพิ่มมากขึ้นจาก TU ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 10-12% จากปีก่อน เนื่องจาก TU มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา และทั้ง 2 ทวีป ยังเป็นแหล่งที่มีมูลค่าตลาดของสินค้า Plant based และกัญชงค่อนข้างสูง ทำให้เชื่อว่าจะเข้ามาร่วมมือในการทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยปัจจุบันบริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Plant based ได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และจุดเด่นสำคัญคือ บริษัทได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเลียนแต่งกลิ่นสีและรสชาติอาหาร Plant based ให้เหมือนรับประทานเนื้อสัตว์เกือบ 100% สอดคล้องกับแผนธุรกิจของ TU

ดังนั้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” RBF ที่ราคาเป้าหมาย 29 บาท อิง PER ปี 2565 ที่ 40 เท่า โดยคงกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 428 ล้านบาท ลดลง 18% จากปีก่อน และกำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 1,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 238% จากปีก่อน ซึ่งจะเติบโตแบบก้าวกระโดดจากกัญชง ปัจจุบัน RBF เทรด PER อยู่ที่ 27 เท่า

ส่วนความเคลื่อนไหวราคาหุ้น TU และ RBF เมื่อวานนี้ (20 ก.ย. 2564) ราคาหุ้น TU ปิดตลาดที่ 21.70 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือลดลง 0.46% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,182.85 ล้านบาท ส่วน RBF ปิดตลาดที่ 19.70 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือลดลง 1.01% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3,244.04 ล้านบาท

Back to top button