“ทริส” คงอันดับเครดิตองค์กร JMT ระดับ BBB ปรับแนวโน้ม Positive

“ทริสเรทติ้ง” คงอันดับเครดิตองค์กร JMT ที่ระดับ BBB ขณะที่ปรับแนวโน้ม Positive จากเดิม Stable ตามการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของ JMART


บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่ได้รับอันดับเครดิต “BBB/Positive” จากทริสเรทติ้ง

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของ JMART ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตของบริษัทอยู่ในระดับเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทเจมาร์ทตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” ของทริสเรทติ้ง

สำหรับการปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทบทวนอันดับเครดิตของ JMART หลังจากที่มีการออกประกาศเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ระบุว่า บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI และ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U มีความประสงค์จะลงทุนในบริษัทเจมาร์ทและบริษัทร่วมคือ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER โดยธุรกรรมดังกล่าวหากได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของ JMART ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้แล้วจะทำให้ทั้ง JMART และ SINGER ได้รับเงินเพิ่มทุนก้อนใหม่ภายในสิ้นปี 2564 นี้

โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับเงินทุนก้อนใหม่จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินทุนจำนวน 5.4 พันล้านบาทจะมาจาก JMART และอีกจำนวน 4.6 พันล้านบาทจะมาจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ (ตามสมมติฐานที่ผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิครบทั้งหมด) โดยเงินทุนก้อนใหม่ที่ได้จะทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าจะปรับอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทเพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ JMART

บริษัทมีบทบาทที่สำคัญในธุรกิจด้านการเงินของกลุ่ม โดยธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญในการดำเนินกิจการของกลุ่มที่มีนโยบายกระจายธุรกิจ บริษัทเป็นผู้สร้างกำไรสุทธิให้แก่กลุ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ทรายอื่น ๆ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 รายได้รวมและกำไรสุทธิของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็น 28% และ 70% ของรายได้รวมและกำไรสุทธิรวมของบริษัทเจมาร์ทตามลำดับ

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้อยู่ที่จำนวน 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสัดส่วนรายได้จำแนกออกเป็นรายได้จากธุรกิจรับซื้อและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ 84% ธุรกิจติดตามเร่งรัดหนี้ 10% และธุรกิจประกันอีก 6% ซึ่งธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตส่วนใหญ่คือธุรกิจรับซื้อและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทสามารถจัดเก็บหนี้ได้ที่จำนวนประมาณ  2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และในช่วงเดียวกัน บริษัทยังได้ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารโดยใช้เงินลงทุนจำนวน 3.3 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับจำนวน 3.5 พันล้านบาทที่ใช้ลงทุนไปในปี 2563

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะนำเงินทุนก้อนใหม่ที่ได้มาจากการเพิ่มทุนไปใช้ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเพิ่มเติมที่จำนวนประมาณ 7.3 พันล้านบาทและจะใช้ในการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ที่จำนวนประมาณ 2.7 พันล้านบาทภายในช่วงปี 2565-2566

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีมูลหนี้คงค้างสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่จำนวน 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.1 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นส่วนที่ตัดจำหน่ายต้นทุนครบแล้วที่จำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึง 6.3 พันล้านบาทจากสิ้นปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 50.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากระดับ 44.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเจมาร์ท

โดยปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ JMART และในกรณีที่สถานภาพภายในกลุ่มของบริษัทที่มีต่อ JMART ลดความสำคัญลงไปอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน

Back to top button