สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 ก.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 ก.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทสลาและหุ้นเฟซบุ๊ก ซึ่งช่วยชดเชยการร่วงลงของหุ้นไนกี้ นอกจากนี้ ตลาดยังคลายความวิตกเกี่ยวกับปัญหาของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ของจีน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,798.00 จุด เพิ่มขึ้น 33.18 จุด หรือ +0.10%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,455.48 จุด เพิ่มขึ้น 6.50 จุด หรือ +0.15% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,047.70 จุด ลดลง 4.54 จุด หรือ -0.03%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไรหลังจากตลาดทะยานขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ และนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ของจีน รวมถึงการเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อ่อนแอของเยอรมนี

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 463.29 จุด ลดลง 4.21 จุด หรือ -0.90%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,638.46 จุด ลดลง 63.52 จุด หรือ -0.95%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,531.75 จุด ลดลง 112.22 จุด หรือ -0.72% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,051.48 จุด ลดลง 26.87 จุด หรือ -0.38%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้บดบังการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ และกลุ่มพลังงาน

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,051.48 จุด ลดลง 26.87 จุด หรือ -0.38%

ความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) และปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยได้แรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว ประกอบกับอุปสงค์ที่เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 68 เซนต์ หรือ 0.90% ปิดที่ 73.98 ดอลลาร์/บาร์เรล และในรอบสัปดาห์นี้ พุ่งขึ้น 3%

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 84 เซนต์ หรือ 1.10% ปิดที่ 78.09 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561 และในรอบสัปดาห์นี้ พุ่งขึ้นเกือบ 3.70%

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับการที่จีนทำการกวาดล้างธุรกิจที่เกี่ยวกับสกุลเงินคริปโต และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทเอเวอร์แกรนด์ของจีนนั้น ได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.90 ดอลลาร์ หรือ 0.11% ปิดที่ 1,751.70 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 30 เซนต์ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 25.40 เซนต์ หรือ 1.12% ปิดที่ 22.425 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 17.10 ดอลลาร์ หรือ 1.72% ปิดที่ 979.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 20.70 ดอลลาร์ หรือ 1.10% ปิดที่ 1,951.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) ขณะที่เงินยูโรและปอนด์อ่อนค่าลง หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนส.ค.

ทั้งนี้ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.32%  แตะที่ 93.3266 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.78 เยน จากระดับ 110.23 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9250 ฟรังก์ จากระดับ 0.9234 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2660 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2648 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1716 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1747 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3660  ดอลลาร์ จากระดับ1.3732 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7256 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7308 ดอลลาร์

Back to top button