SO วางเป้าปี 64 กำไร-รายได้โต มองโอกาสซื้อกิจการ – ร่วมทุนผลักดันธุรกิจแกร่ง

SO วางเป้าหมายกำไร-รายได้ ปีนี้โตต่อเนื่อง พร้อมมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ-ร่วมลงทุนในโมเดลธุรกิจใหม่เพิ่มเติม หวังสานต่อธุรกิจเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้ลูกค้า


นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO เปิดเผยว่า ภายหลังจากเข้ามาทำหน้าที่ CEO ได้วางเป้าการเติบโตของ SO ให้เป็นบริษัทที่สามารถสร้างการเติบโตใน 2 ส่วนไปพร้อมกันทั้งกำไรและรายได้ โดยในแง่ของกำไร บริษัทจะดำเนินการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านรายได้จะมีการมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หรือหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ มานำเสนอกับลูกค้า โดยจะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประกอบอีกด้วย

ขณะที่บริษัทวางเป้ากำไรสุทธิในปีนี้จะเติบโตเป็น 150-160 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 139.55 ล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกสามารถทำกำไรได้แล้วราว 83.17 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 3/64 และไตรมาส 4/64 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีสัญญาใหม่ในมือแล้วกว่า 600 สัญญา จากลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 200-300 ราย โดยสิ้นสุด ณ ไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 1,800 ราย จากไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 800 ราย

ทั้งนี้บริษัทยังมองโอกาสการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมลงทุน (JV) เพิ่มเติม เนื่องจากบริษัทมองการเติบโตในอนาคตจะมาจาก Inorganic growth มากขึ้น โดยมีความสนใจในธุรกิจ ได้แก่ 1.Outsourcing ที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพการให้บริการได้อย่างครอบคลุมทุกความต้องการได้มากขึ้น 2.การลงทุนในเทคโนโลยี หรือ นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเข้ามาหนุนความคล่องตัวให้กับธุรกิจ และ 3. Professional Training เป็นศูนย์อบรมให้ความรู้แก่พนักงาน

นอกจากนี้ นายณัฐพล เปิดเผยว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) และ ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อดำเนินการ Due diligence ในกลุ่มงานของ IT Outsourcing คาดจะเห็นความชัดเจนได้ในปี 65 และวางเป้าหมายในอนาคต 3-5 ปี บริษัทฯ ต้องการทำให้ Professional Training ใหญ่ขึ้นหรือมีรายได้เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก รวมถึงต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากแพลตฟอร์ม ระบบเอกสาร ซอฟแวร์ต่างๆ ที่บริษัทพัฒนาเพิ่มเป็น 10% ของรายได้รวม เป็นต้น

“ที่ผ่านมาการทำงานแต่ละยุคสมัยย่อมมีความท้าทายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ทุกอย่างไว รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ รวมถึงการสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับทั่วโลกและมีผลกระทบกับทุกส่วน ทำให้มองว่าสยามราชธานียังต้องปรับกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่องหลังจากเริ่มทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นมา 2-3 ปี แล้ว โดยจะเน้นการทำงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ที่ให้อำนาจผู้บริหารแต่ละส่วนสามารถบริหารจัดการงานเองได้ ไม่ต้องผ่านซีอีโอหมดทุกเรื่อง รวมถึงใช้กระบวนการทำงานแบบ Agile ที่จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะเตรียมตัวให้บริษัทพร้อมเติบโตแบบสเกลอัพได้ทุกเวลา” นายณัฐพล กล่าว

ส่วนจุดแข็งของ SO คือ การที่สามารถรวม ซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบุคลากรไว้ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลูกค้าได้หลายโซลูชั่น อีกทั้งปัจจุบันบริษัทยังมีลูกค้าที่มั่นคง ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็น Multi Company ที่มีมาตรฐานสูงรวมกว่า 600 สัญญา ส่งผลให้ SO สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากลูกค้ามาพัฒนาไปพร้อมๆ ไปกับคู่ค้าได้เลย

ดังนั้น หากดูจากตัวเลขตลาดแรงงานไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม จากสถิติเมื่อปี 62 พบว่ามีจำนวนแรงงานอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านคน หากคิดเป็นส่วนแบ่ง 10% ของตลาดแรงงานทั้งหมด จะเท่ากับว่า SO จะมีตลาดแรงงานเอาท์ซอร์สอยู่ที่ 1.6 ล้านคน ซึ่งถือว่ายังคงเป็นตลาดที่ยังโตและไปได้ดีในอนาคต

Back to top button