ขนทัพ 17 หุ้น “โรงพยาบาล” ตัวท็อป ชู VIH-BCH-RAM อัพไซด์ทะลักเกิน 25%

โบรกคัดหุ้นกลุ่ม "โรงพยาบาล" ที่มีความโดดเด่นน่าลงทุน โดยมีเป้าสูง-อัพไซด์ทะลัก ชู VIH-BCH-RAM อัพไซด์ทะลักเกิน 25%


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นในกลุ่ม “โรงพยาบาล” มานำเสนอเป็นทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุน โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ นายสุเชษฐ์ สุขแท้ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่ามีหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล รวมจำนวน 17 หลักทรัพย์ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเป้าหมายแล้ว พบว่ามีส่วนต่างของราคาหุ้น (อัพไซด์) ค่อนข้างสูง

โดยหลักทรัพย์ที่มีอัพไซด์สูงเกิน 20% มีจำนวน 8 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ VIH, บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH, บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) หรือ RAM, บริษัท เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ CMR และ บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) หรือ RPH ตามลำดับ

สำหรับหลักทรัพย์ที่มีอัพไซด์ต่ำกว่า 20% สามารถดูข้อมูลได้จากตารางประกอบด้านล่างนี้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายภูมิพัฒน์ ฉัตรนรเศรษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ BCH เปิดเผยว่า บริษัทตั้งการเติบโตของรายได้ในปี 65 ไว้ที่ 104% เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีรายได้ 8,250 ล้านบาท (ไม่รวมกับรายได้จากการให้บริการและการรักษาไวรัสโควิด-19) โดยการเติบโตจะมาจากคนไข้ทั่วไปที่เข้าใช้บริการในโรงพยาบาล 31% หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และเปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ จะหนุนให้ผู้ป่วยกลับมาเข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น

ด้านคนไข้จากประกันสังคมคาดว่าจะมีรายได้จากคนไข้ประกันสังคมเติบโตราว 10% โดยโรงพยาบาลในเครือของบริษัทได้โควตาในการรับเปิดรับจำนวนผู้ประกันตนเข้ามาเพิ่มเป็น 1.5 ล้านราย จากเดิมปีนี้ที่ 1.2 ล้านราย ในขณะเดียวกันยังเปิดและยกระดับศูนย์การแพทย์เพิ่มขึ้น ในโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อรัญประเทศ และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี คาดว่าจะมีการเติบโตของรายได้ที่ 7%

สำหรับการให้บริการด้านโควิด-19 จะมีการเติบโตราว 19% โดยจะมาจากกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่ กลุ่มผู้ติดเชื้อเพิ่มที่ยังคงมีอาการป่วยจากโควิด-19 อยู่ และผู้เข้าใช้บริการในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่การให้บริการการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะมีการเติบโต 37% ด้วยการให้บริการการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาที่จะได้รับและเริ่มฉีดได้ล็อตแรกจำนวน 1.06 ล้านโดส ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/64 นี้ 50% และในส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งคาดว่าจะฉีดได้ในช่วงไตรมาส 1/65 และล็อตที่ 2 จำนวน 1.2 ล้านโดส คาดว่าจะทอยอฉีดได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/65-ไตรมาส 3/65

นอกจากนี้บริษัทยังมองหาช่องทางรายได้ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท บางกอก เชน แมเนจเมนท์ จำกัด (BCM) ลงทุนใน 3 ธุรกิจคือ บริการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่ช่วยลดต้นทุนการส่งตรวจแลปภายนอกของโรงพยาบาล ยังช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่โรงพยาบาลเพิ่มเติมจากการรับตรวจแลปจากภายนอกโรงพยาบาล

ด้านธุรกิจนำเข้า โดย BCM มีใบอนุญาตในการนำเข้า ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยในอนาคตจะสามารถนำเข้าจากตัวแทนจำหน่ายซึ่งจะช่วยลดต้นทุนต่างๆของโรงพยาบาลได้ สุดท้ายคือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ปัจจุบันได้เริ่มวางจำหน่ายแล้วตามโรงพยาบาลต่างๆในเครือ รวมไปห้างสรรพสินค้าต่างๆ ด้วย

ขณะที่ นายพิชญ สมบูรณสิน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ RAM เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงพยาบาลใหม่ 4 แห่ง ที่จะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วง 3 ปีจากนี้ (65-67)

สำหรับโรงพยาบาลในประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลรามคำแหง 2 ขนาด 560 เตียง งบลงทุน 2,800 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 65 โดย RAM ถือหุ้น 35.35% โรงพยาบาลน่านราม ขนาด 141 เตียง บลงทุน 750 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66 โดย RAM ถือหุ้น 14% และ โรงพยาบาลรามคำแหง 3 พระราม 3 ขนาด 210 เตียง งบลงทุน 750 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67 ซึ่ง RAM ถือหุ้นทั้ง 100%

รวมถึงโรงพยาบาลเวียงจันท์ราม สปป.ลาว ขนาด 120-150 เตียง เงินลงทุน 600 ล้านบาท RAM ถือหุ้นในสัดส่วน 70% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหากการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยังเป็นการขยายออกไปยังต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย

โดยปัจจุบัน เครือ RAM มีโรงพยาบาลทั้งหมด 17 แห่ง รวมจำนวนเตียง 2,400 เตียง และมีจำนวนคนไข้ประกันสังคมอยู่ที่ 460,000 ราย ที่เข้ารับการรักษาในเครือโรงพยาบาล

นายพิชญ กล่าวอีกว่า ผลประกอบการของ RAM ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 เติบโตค่อนข้างมาก จากปัจจัยหนุนหลัก คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังหนุนให้ความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ ต่างๆปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทางโรงพยาบาลมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจด้านการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในกลุ่มดังกล่าวเข้ามาจำหน่าย ก็จะหนุนการเติบโตได้ค่อนข้างมาก

พร้อมกันนี้ด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้ความต้องการบริการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ต้องการตรวจในเครือโรงพยาบาลเอง และยังมีความต้องการตรวจจากแลปจากภายนอกโรงพยาบาลเข้ามาจำนวนมากด้วยเช่นกัน

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากบทวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button