สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 ก.พ. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 ก.พ. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน โดยล่าสุดสหรัฐสั่งย้ายสถานทูตอเมริกันในกรุงเคียฟไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันตกของยูเครนแล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ สนับสนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,566.17 จุด ลดลง 171.89 จุด หรือ -0.49%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,401.67 จุด ลดลง 16.97 จุด หรือ -0.38% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,790.92 จุด ลดลง 0.24 จุด หรือ -0.002%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันจันทร์ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน และความเห็นจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ได้ส่งผลกดดันตลาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 460.96 จุด ลดลง 8.61 จุด หรือ -1.83%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,852.20 จุด ลดลง 159.40 จุด หรือ -2.27%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,113.97 จุด ลดลง 311.15 จุด หรือ -2.02% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,531.59 จุด ลดลง 129.43 จุด หรือ -1.69%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงในวันจันทร์ (14 ก.พ.) โดยปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกซึ่งถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังสหรัฐเตือนว่ารัสเซียอาจจะบุกโจมตียูเครนได้ทุกเวลา

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,531.59 จุด ลดลง 129.43 จุด หรือ -1.69%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีในวันจันทร์ (14 ก.พ.) ท่ามกลางความกังวลที่ว่าสหรัฐและชาติตะวันตกอาจคว่ำบาตรรัสเซีย หากรัสเซียตัดสินใจบุกโจมตียูเครน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันจากรัสเซีย

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 2.36 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 95.46 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2557

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 2.04 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 96.48 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2557

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนในวันจันทร์ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและรัสเซียในประเด็นยูเครน

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 27.3 ดอลลาร์ หรือ 1.48% ปิดที่ 1,869.4 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 2564

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 47.9 เซนต์ หรือ 2.05% ปิดที่ 23.848 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 9.3 ดอลลาร์ หรือ 0.91% ปิดที่ 1,028 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 152.40 ดอลลาร์ หรือ 7% ปิดที่ 2,346 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (14 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.30% แตะที่ 96.3720 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 115.62 เยน จากระดับ 115.27 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9256 ฟรังก์ จากระดับ 0.9250 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2733 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2739 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1299 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1340 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3524 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3551 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7124 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7126 ดอลลาร์

Back to top button