โบรกฯคัด 5 ธีมเด็ด! เน้น “บลูชิพ” แลกการ์ด-รับบาทแข็ง ชู EGCO-BGRIM-GULF นำทีม

“ทิสโก้” จัดกลยุทธ์ลงทุน 5 ธีมเด็ด เน้น “บลูชิพ” แลกการ์ด-รับอานิสงส์บาทแข็ง ชู EGCO-BGRIM-GULF นำทีมเด่น


บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์(18 ก.พ.65) ว่า นับตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงปัจจุบันตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น 2.6% เคลื่อนไหว Outperform กว่าตลาดหุ้นโลกที่ติดลบ -4.6% อานิสงส์จาก (1) ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยหนุนราคาหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

(2) แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมทั้งมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาด โดยเฉพาะการกลับมาเปิดรับต่างชาติแบบ “Test & Go” ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก และ (3) กระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า โดยเฉพาะในเดือน ก.พ.(MTD) ต่างชาติซื้อสุทธิไปแล้วสูงถึง 5.02 หมื่นล้านบาท จากการตรวจสอบ Foreign Fund Flows ของตลาดหุ้นภูมิภาคเดือนนี้ก็ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากที่สุดด้วย รองลงมาคือ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ

ส่วนตลาดหุ้นที่มีเม็ดเงินไหลออก คือไต้หวัน และญี่ปุ่น เชื่อว่าเป็นผลมาจากกระแสการปรับพอร์ตการลงทุนโดยโยกเงินออกจากหุ้นเติบโต (Growth) เข้าสู่หุ้นคุณค่า(Value) และหุ้นที่สามารถป้องกันเงินเฟ้อได้ ซึ่งตลาดหุ้นไทยมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายการลงทุนดังกล่าว เช่น กลุ่มธนาคารกลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น

ถึงแม้เรามองโมเมนตัมเงินต่างชาติยังคงเป็นบวกในระยะสั้น แต่การประเมินเม็ดเงินต่างชาติจะไหลเข้าอีกเท่าไหร่? ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีหลายปัจจัยผันแปรและที่สำคัญ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดีจากการศึกษาข้อมูลสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551 เป็นต้นมา หรือประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเงินที่ไหลเข้าจะมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการไหลเข้า กล่าวคือ ยิ่งรอบการไหลเข้ากินเวลานาน เม็ดเงินไหลเข้าก็จะยิ่งมาก โดยรอบการไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติในอดีตจะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 4 เดือนครึ่ง (Max. = 8 เดือน, Min. = 1 เดือน)

ขณะที่มูลค่าเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 71,000 ล้านบาท (Max. 118,000 ล้านบาท, Min.42,000 ล้านบาท) ดังนั้นจากตัวเลขข้างต้นจึงพอจะสามารถประเมินรอบการไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 15,000-16,000 ล้านบาท/เดือน

สำหรับรอบนี้เม็ดเงินต่างชาติเริ่มไหลเข้าตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ถึงปัจจุบัน (15 ก.พ. 2565) เข้าสู่เดือนที่ 7 แล้ว รวมไหลเข้ากว่า 123,000 ล้านบาท นับเป็นจำนวนเม็ดเงินที่มากกว่าทุกรอบแล้ว

อย่างไรก็ดีหากอิงจากรอบเวลาที่เคยไหลเข้ายาวนานที่สุด คือ 8 เดือน อาจแสดงนัยถึงต่างชาติจะซื้อสุทธิต่อเนื่องถึงเดือนหน้า หรืออีก 15,000-16,000 ล้านบาท (นับจากกลางเดือน ก.พ. เป็นต้นไป) อิงจากตัวแบบความสัมพันธ์ระหว่างการซื้อขายสุทธิของต่างชาติกับความเคลื่อนไหว SET Index โดยทุก ๆ เงินต่างชาติไหลที่เข้า (ออก) 1 หมื่นล้านบาท จะมีผลต่อ SET Index ขึ้น (ลง) ราว 18 จุด คาดจะช่วยผลักดัน SET Index ปรับขึ้นราว 27-29 จุด หรือคิดเป็น Upside อีกไม่เกิน 2% จาก SET Index ปัจจุบันที่ 1,700 จุด อนึ่ง Upside ของ SET Index ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับเป้าหมาย SET Index สิ้นปีนี้ที่ประเมินไว้ที่ 1,720 จุด (Fwd. PER 16.6 เท่าปี 2565)

โดยสรุปมอง SET Index มีโอกาสเกิดความผันผวนมากขึ้นในระยะสั้น จากความกังวลการเร่งปรับนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้นของ FED หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งขึ้นไม่หยุด และสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซีย แต่มองเป็นการปรับฐานเพื่อลดความร้อนแรงหลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เข้าสู่เดือน ก.พ. เป็นต้นมา มีแนวรับสำคัญที่บริเวณ 1,680 และ 1,660 ตามลำดับ หลังจากการปรับฐานแล้วมอง SET Index มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นต่อ ทางเทคนิคเล็งเป้าทดสอบระดับ 1,720-30 และ 1,750 จุดตามลำดับ จากแรงขับเคลื่อนของเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าเป็นสำคัญ 

อย่างไรก็ดีที่ระดับ SET Index ตั้งแต่ 1,720 จุดขึ้นไป มอง Upside เริ่มจำกัด จึงแนะนำทยอยขายล็อกกำไร-ถือเงินสดเพิ่ม เพื่อรอซื้อคืนในช่วงตลาดอ่อนตัวอีกครั้ง โดยหุ้นเด่นน่าสนใจระยะสั้นแนะนำ 5 ธีมเด่นดังนี้

(1) หุ้นเก็งกำไรงบดีช่วงโค้งสุดท้าย ชอบ BAM, BANPU, COM7, DOHOME, III, JWD,WHA ,(2) หุ้นปันผลสูง คาดให้ Div. Yield งวดนี้ระดับ 3% ขึ้นไป ที่ประกาศปันผล-กำหนดวันขึ้นเครื่องหมาย XD แล้ว MC (XD 24ก.พ. @ 0.32 บาท/หุ้น), SCCC (XD 24 ก.พ. @ 9 บาท/หุ้น), SMPC (XD 7 เม.ย. @ 0.47 บาท/หุ้น) /ที่ยังไม่ประกาศปันผล AP, ASK, ASP, BANPU, ICHI, KGI, KKP, LANNA, PREB, QH, ROJNA, SAT, SC, TCAP, TVO, WHAUP

(3) หุ้นป้องกันเงินเฟ้อ (น้ำมัน-โภคภัณฑ์) PTT, PTTEP, SPRC, BANPU, TPIPL และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น BBL,KBANK,SCB,BLA,(4) หุ้นขนาดใหญ่เชิงคุณค่าที่ราคาปีนี้ยังขึ้นช้าอยู่ BAM, BEM, BTS, CPN, HMPRO, KTB และ (5) หุ้นเก็งกำไรตามประเด็นบวกระยะสั้นบาทแข็งค่าสุดรอบ 6 เดือน มองดีต่อหุ้นโรงไฟฟ้า ได้แก่ EGCO, BGRIM, GULF และรัฐลดภาษีส่งเสริมรถยนต์ EV อาทิ PTT, EA, NEX,GPSC, BANPU, BCPG, SAT, STANLY, AMATA, WHA, ROJNA

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button