UAC เปิดกลยุทธ์ปี 65 ลุยลงทุนแหล่งปิโตรฯ-เดินหน้า Circular Economy หนุนรายได้ 2 พันลบ.

UAC เปิดกลยุทธ์ปี 65 ลุยลงทุนแหล่งปิโตรเลียม ไตรมาส2 นี้ -เดินหน้า Circular Economy ควบคู่ไปกับการสร้าง Sustainable Development หนุนรายได้ 2 พันลบ.


นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ วางยุทธ์ศาสตร์ทางธุรกิจ เพื่อการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจด้านพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการการเร่งขยายการตลาดในส่วนของธุรกิจเทรดดิ้ง ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี พลังงานและเคมีภัณฑ์ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กร เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ อย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมทั้งยังมองหาโอกาสการลงทุนร่วมกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่กำลังพัฒนา อาทิ สารปรับปรุงดิน โรงไฟฟ้า การเข้าเป็นที่ปรึกษากับพันธมิตรในด้านโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ

ทั้งนี้จากกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปี 2565 แตะระดับ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ ยังตั้งเป้ารักษาระดับอัตรากำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 420 ล้านบาท ของรายได้ยอดขายรวม

โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงในสัญญารับโอนสิทธิสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม กับกรมเชื้อเพลังธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อเข้าลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมหมายเลข L10/43 และ L11/43 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นบริษัทฯ จะมีการเข้าสำรวจปริมาณปิโตรเลียมสำรองในพื้นที่สัมปทานดังกล่าว เพื่อต้องการทราบปริมาณปิโตรเลียมที่ชัดเจนได้ในไตรมาส 2/2565 นี้

“ปัจจุบันแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวสามารถผลิตน้ำมันดิบ ได้เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 300 บาร์เรล/วัน และคาดว่าภายหลังการเข้าลงทุนแล้วจะสามารถผลิตน้ำมันได้ถึง 500 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้นหลังจากบริษัทฯ เข้ามาดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ จะสามารถทยอยรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3/2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี อ้างอิงจากราคาน้ำมันดิบและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ ปัจจุบัน” นายชัชพล กล่าว

ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ EV Charging Station นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC และพันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจให้บริการสถานีน้ำมัน ซึ่งคาดว่าสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี2565 จะดำเนินการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในรูปแบบชาร์จไฟแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC EV Quick Charger) ที่มีขนาดสูงสุดถึง 200 KW เฟสแรก จำนวน 4 สถานี 12 หัวจ่าย

นอกจากนี้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่าน ขนาด 3 MW จังหวัดขอนแก่น ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้หญ้าเนเปียร์เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สชีวภาพ คาดว่า พร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 2/2565 นี้ และมั่นใจว่าโครงการภูผาม่าน จะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแห่งแรกที่สามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้

Back to top button