“โนมูระ” จัดธีมน่าลงทุน Q2 เคาะ 15 หุ้นเด่น มีปัจจัยบวก-เติบโตสูง

“โนมูระ” จัด 9 ธีมน่าลงทุนไตรมาส 2/65 พร้อมเคาะ 15 หุ้นเด่น มีปัจจัยบวก-เติบโตสูง มองกรอบ SET แนวรับ 1,550/1,500จุด แนวต้าน 1,700/1,720จุด รอจังหวะตลาดย่อตัว เป็นจังหวะเพิ่มน้ำหนักหุ้น


บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ภาพตลาดช่วงไตรมาส 2/2565 ยังถูกกดดันจาก 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การดึงสภาพคล่องกลับของธนาคารกลาง ซึ่งบล.โนมูระ พัฒนสิน คาด Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเร่งขึ้น 50bp ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ตามด้วยการขึ้นครั้งละ 25bp ในเดือน ก.ค., ก.ย. และ ธ.ค.2565 พร้อมคาด Fed ประกาศลดงบดุลในเดือน พ.ค.2565 และเริ่มลดทันทีตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. ตลาดจึงยังมีโอกาสเกิด Negative Surprise

รวมถึง 2) ประเด็น Geopolitical risk ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานและทิศทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัย โดยจะก่อให้เกิด Downside risk ต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะยุโรป รวมถึงเพิ่มความกังวลต่อภาวะ Stagflation หากเหตุการณ์ยืดเยื้อเกินกว่าไตรมาส 2/2565 หรือเกิดเหตุการณ์รัสเซียถูกคว่ำบาตรเต็มรูปแบบ/รัสเซียงดส่งออกพลังงาน ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าว ส่งผล Financial Indicator ขยับขึ้นใกล้ภาวะ China Shock ปี 2558

นอกจากนี้ Bond Yield สหรัฐฯยังเข้าใกล้ภาวะ Invert yield curve ล่าสุด Spread ระหว่าง 2ปี/10ปี อยู่ในกรอบ 20-30bp ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2562 บ่งชี้ความเสี่ยงโดยรวมเพิ่มขึ้น เพิ่มความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดี Nomura มองว่าประเด็น Russia shock กระทบกับเงินเฟ้อมากกว่าการเติบโต (GDP Growth) เนื่องจากนโยการเงินของเอเชียยังผ่อนคลายมาก ผสานภาครัฐฯจะใช้นโยบายการคลังช่วยพยุงเศรษฐกิจ จึงมองว่าภาพเศรษฐกิจ และตลาดการเงินในปัจจุบันอยู่ในภาวะ Financial Shock มากกว่าภาวะ Recession

ด้านปัจจัยในประเทศ ภาพการท่องเที่ยวซึ่งเป็น Key Growth สำคัญยังถูกกดดันจากผลของรัสเซีย-ยูเครน กระทบนักท่องเที่ยวจากยุโรป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากรัสเซียซึ่งมีสัดส่วน 11%(ตั้งแต่เดือน พ.ย.2564) เนื่องจากค่าเงินรูเบิ้ลอ่อนค่า ขณะที่จีนและฮ่องกงมีโอกาสใช้มาตรการ ZCS ถึง มี.ค.2566 หลังยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 เร่งขึ้น ทำให้ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ช่วงปลายปีนี้

ขณะที่มีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกปรับลด Credit rating คล้ายปี 2540-2541 เป็น Overhang ต่อภาพการลงทุน (แนะตามการพิจารณา Rating ประเทศ รอบ พ.ค.- ก.ค. 2565 ของ Moody’s) นอกจากนี้ไทยยังเผชิญปัญหาโครงสร้างภายในทำให้ความยืนหยุ่นต่อราคาพลังงานและการบริโภคอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยหนุนหลักจากกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติโดยตั้งแต่ต้นปี 2022 ต่างชาติซื้อหุ้นไทยแล้ว 2.9 พันล้านเหรียญฯ แต่ยังต่ำเพียง 17% ของมูลค่าตลาด (ค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 23%) ดังนั้น ภาพตลาดหุ้นไทยในปีไตรมาส 2/2565 จะเป็นภาพของการค้นหาฐาน

ทั้งนี้หากอ้างอิงสถิติการเกิดภาวะ Financial Shock พบว่า ตลาดหุ้นไทยมักปรับฐานราว 10-15% และจะใช้เวลาปรับฐานราว 3 เดือน จึงคาดกรอบ SET ไตรมาส 2/2565 มีแนวรับ 1,550/1,500จุด แนวต้าน 1,700/1,720จุด รอจังหวะตลาดย่อเพิ่มน้ำหนัก ลุ้นฟื้นตัวช่วงปลายไตรมาสจากภาพ Recovery phase ราว 1ปี-1ปีครึ่ง โดย CNS คาดการณ์ EPS ตลาดปี 2565-2566 ที่ 93 บาท/หุ้น และ 106 บาท/หุ้น ต่ำกว่าคาดการณ์ EPS ของตลาดราว 2% โดยยังคงดัชนีเป้าหมายปี 2565 ที่ 1,750จุด อิงส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นกับพันธบัตร 10 ปี (ERP) ที่3.14%

ดังนั้นในภาวะ Financial shock ประกอบกับความเสี่ยง Invert yield curve แนะนำวางพอร์ตแบบ Balance ผสมผสานระหว่างกลุ่ม Defensive (เด่นในภาวะ Financial shock) และ Growth (เด่นในภาวะ Invert yield curve) คงน้ำหนักหุ้นไทย 60-65% , หุ้นต่างประเทศลดลง 10-20%,และถือสินทรัพย์ปลอดภัยหรือทางเลือกอื่นๆ ราว 15-20% รอจังหวะตลาดย่อตัว เป็นจังหวะเพิ่มน้ำหนักหุ้น โดยหุ้นเด่นช่วงไตรมาส 2/2565 ได้แก่ BCP, TOP, BDMS, BCH, ADVANC, DTAC, MAKRO, GPSC, JMT, TIDLOR และ KCE ส่วน Mid-Small Cap Play ได้แก่ PYLON, BE8, JMART และ BCPG

ขณะที่ธีมน่าลงทุน ประกอบด้วย 1) Wealth Effect to Middle East Support Thailand Medical Hub : กลุ่มโรงพยาบาลเป็นกลุ่ม Outperform ในวงจรการลงทุนช่วง Financial shock ผสานประเด็นรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น หนุนรายได้ของประเทศตะวันออกกลางสูงขึ้น นอกจากนี้แผนเดินหน้าเปิดประเทศของไทย ล่าสุดยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศตั้งแต่ 1 เม.ย. บวกต่อโรงพยาบาลที่พึ่งลูกค้าต่างชาติ (BDMS, BCH)

2) Metaverse Economy : ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากกระแส Metaverse กระแส Digital Tranformation และการพัฒนาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในระบบนิเวศของ Metaverse เน้นผู้ให้บริการโครงข่ายการสื่อสาร ที่พ้นจุดลงทุนหนักๆ ไปแล้ว (ADVANC) และที่ปรึกษาในการทำธุรกิจ (BE8) จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ตั้งแต่ช่วงเริ่มของกระแส Metaverse

3) Evs-Green Energy : หุ้นที่รับประโยชน์และเติบโตตามระบบนิเวศของห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวแบบเร่งตัว (GPSC, BCPG, KCE)

4) ESG : บริษัทที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ตระหนักถึงคุณค่า สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) มีค่า  ESG ที่สูงและกระแสการลงทุน ESG ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลก (ADVANC)

5) U-Shape Recovery : แผนการเปิดประเทศหนุนเศรษฐกิจ และรายได้ฟื้นตัว แต่โครงสร้างเศรษฐกิจยังฟื้นแบบ U-Shape หนุน (TIDLOR, JMT)

6) M&A : แนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเกิด Synergy ของการปรับโครงสร้าง (MAKRO, JMART, JMT, ADVANC, DTAC)

7) Inflation Hedging : หุ้นที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเร่งตัว และได้อานิสงค์บวกจากราคาน้ำมันดิบทรงตัวสูง (TOP, BCP)

8) SET50 Rebalance : หุ้นที่มีโอกาสเข้า SET รอบกลางปีนี้ (JMT)

9) Mid/small Cap Play แนะนำ PYLON, BE8, JMART เป็นกลุ่มหุ้นเด่น ที่กระจายอยู่ใน Theme การลงทุนหลักข้างต้น

Back to top button