จับตา 4 ปัจจัยชี้ทิศศก.ปี 65 ยก “โทเคนดิจิทัล” มิติใหม่การลงทุน

จับตา 4 ปัจจัยกำหนดทิศทางศก.ปี 65 ท่ามกลางตลาดผันผวน สงคราม ราคาพลังงาน พร้อมแนะนักลงทุนกระจายลงทุน ป้องกันความเสี่ยง ยก “โทเคนดิจิทัล” มิติใหม่การลงทุน แต่ยังมีความผันผวนสูง ชี้ศึกษาข้อมูลทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน


ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า นับจากต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ความตึงเครียดของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับยูเครนและชาติตะวันตก ส่งผลต่อราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนทั่วโลก สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และกดดันให้เงินเฟ้อมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทบทวนประมาณการจีดีพีใหม่ มาอยู่ที่ 2.5% จากเดิมเมื่อปลายปี 2564 ที่เคยมองว่าจะขยายตัว 3.7%

ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 จะขยายตัว 4.4% ชะลอลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย โดยสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญ

ด้าน ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่าแนวโน้มที่จะเป็นไปได้มากที่สุดคือ สงครามจะมีความยืดเยื้อตลอดทั้งปี

สำหรับสหรัฐอเมริกาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 2.8% แม้จะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่ง 7.9% ซึ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีและตลาดแรงงานที่ร้อนแรงก็ตาม โดยได้รับผลกระทบจากสงครามค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ขณะที่ยุโรปมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากภูมิภาคนี้ รวมถึงจีนปัจจัยสำคัญที่จะกระทบภาคเศรษฐกิจไม่ใช่สงคราม แต่อยู่ที่เรื่องการระบาดของ COVID-19 ที่ตอนนี้ 20 ภูมิภาคสำคัญ ซึ่งคิดเป็น 70% ของ GDP ประเทศ กำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้อยู่ โดยจีนตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 5.5% ต่อปี

ส่วนราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นสูงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากต้องนำเข้าถึง 90% และจะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และทำให้ GDP ลดลง อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยังคงเป็นตัวหลัก ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตที่ดี และยังไม่ต้องกังวลมากนัก หากสงครามจำกัดเฉพาะอยู่ในรัสเซียและยูเครน ไม่ได้ขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในยุโรป เนื่องจากสัดส่วนรวมกันของสองประเทศนี้ยังไม่ถึง 0.5% ของการส่งออกของไทย

นอกจากนี้ นางสาวศิริพร สุวรรณการ  Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group, ธนาคารกสิกรไทย ยังชี้ให้เห็นว่าในปีนี้มีแนวโน้มสำคัญ 4 ประการที่นักลงทุนต้องติดตามให้ทัน ได้แก่

  1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะจบอย่างไร จะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น มาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ การให้เลิกใช้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT และการกีดกันทางการค้า
  2. การปรับลดตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจ ตัวเลข GDP ทั้งโลกจะถูกปรับลงหนักแค่ไหน เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูง จะมีการปรับเงินเฟ้อพุ่งไปอีกแค่ไหน และสถานการณ์ COVID-19 ที่จีน จะยิ่งซ้ำปัญหาของห่วงโซ่ซัพพลายมากแค่ไหน
  3. นโยบายการเงิน หากสงครามยืดเยื้อ ธนาคารกลางทั่วโลกจะอดทนมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะที่ขึ้นช้าและขึ้นน้อย
  4. นโยบายการคลัง ต้องติดตามว่าประเทศต่าง ๆ จะมีการใช้จ่ายด้านการคลังอย่างไร จะมีแพ็กเกจหรือโปรแกรมแบบไหนออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยกลยุทธ์การลงทุนที่ดีที่สุดในวันนี้คือ การกลับมาดูพอร์ตของตัวเอง ซึ่งหากลงทุนเต็มและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ควรเก็บพอร์ตไว้แน่นๆ อย่าหวั่นไหว ส่วนคนที่มีเงินสดควรกระจายการลงทุนด้วยการทยอยซื้อหุ้น กองทุนตราสารหนี้และทองคำ เพราะช่วงที่ตลาดลงแบบนี้ถือเป็นโอกาสของคนที่มี Cash

ขณะที่นายสัญชัย ปอปลี ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และที่ปรึกษาสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยแห่งประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นว่า ในช่วงประมาณปี 2561 – 2562 ตัวเลขคนเทรดในตลาด Cryptocurrency ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณหลักแสนคน แต่ทุกวันนี้พุ่งขึ้นถึง 2 ล้านคน เติบโตประมาณ 20 เท่าภายใน 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเติบโตที่สูงมาก และคาดว่าจะขยายตัวได้อีก โดยทิศทางของ Cryptocurrency ที่จะเห็นในปีนี้ ได้แก่

  1. ขยับจากเฉพาะกลุ่มสู่การใช้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการลงทุน แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของไลฟ์สไตล์ ศิลปะ และเกม ซึ่งศิลปินและเกมเมอร์เริ่มเข้าสู่โลก Digital Asset มากขึ้น โดยมี NFT หรือ Cryptocurrency เป็นตัวเชื่อม
  2. บริษัทยักษ์ใหญ่ลงทุนใน Cryptocurrency มากขึ้น
  3. หลายประเทศทั่วโลกกำลังมองถึงการเปลี่ยนตัว Bitcoin ให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) ได้ในประเทศ หลังจากที่ประเทศเอลซัลวาดอร์เป็นชาติแรกของโลกที่ประกาศใช้เมื่อปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาลงทุนในตลาดนี้ ต้องรู้ก่อนว่า Cryptocurrency มีความผันผวนสูง และต้องคอยมอนิเตอร์ทุกอย่างตลอดเวลา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็ว รวมถึงมีหลายปัจจัยและข้อมูลที่ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ ซึ่งจะใช้กรอบการลงทุนแบบในหุ้นหรือกองทุนรวมมาใช้ใน Cryptocurrency ไม่ได้

ทั้งนี้ กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากสำหรับ Digital Token (โทเคนดิจิทัล) สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดย นางสาวอภิญญา เรืองทวีคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด อธิบายว่า Digital Token ในประเทศไทย จะเป็นเหรียญที่ออกด้วยบริษัทคอร์ปอเรตหรือบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. โทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นประเภทโทเคนที่ผู้ออกมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุน เพื่อมาร่วมลงทุนในตัวโครงการที่เขานำเสนอ ซึ่งอาจกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุนเป็นสิทธิในส่วนแบ่งรายได้หรือเงินปันผล นับเป็นช่องทางใหม่ในการระดมทุนและรูปแบบใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
  2. โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เป็นประเภทโทเคนที่ให้ผู้ถือมีสิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ผู้ออกนำเสนอ เช่น สิทธิการเข้าพักที่โรงแรม สิทธิรับส่วนลดต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะเปลี่ยนการถือครองให้เป็นแบบดิจิทัล เพื่อให้ใช้ได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจาก Digital Token เป็นอุตสาหกรรมใหม่ นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจในตัว Token หรืออุตสาหกรรมที่จะเข้าไปให้ดี รวมถึงควรติดตามข้อมูลข่าวสาร กฎระเบียบ ภาษี และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตลอดเวลา โดยสินทรัพย์ทางเลือกประเภทนี้สามารถที่จะสร้างโอกาสให้ทั้งฝั่งผู้ออกเหรียญและผู้ที่เป็นนักลงทุน

Back to top button