WTI-BRENT ไหลกว่า 5% เซ่นข่าว “ไบเดน” จ่อระบายน้ำมันในคลังสำรอง หวังสกัดราคาพุ่ง

WTI-BRENT ร่วงกว่า 5% แม้ว่า “โอเปกพลัส” มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการประชุมวันนี้ ด้วยการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในทุกเดือน ขณะที่ "ไบเดน" เตรียมออกแถลงการณ์เกี่ยวกับแผนการระบายน้ำมันในคลังสำรองเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และเบรนท์ยังคงปรับตัวลง แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการประชุมวันนี้

โดย ณ เวลา 19.43 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลบ 5.92 ดอลลาร์ หรือ 5.49% สู่ระดับ 101.90 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ลบ 5.76 ดอลลาร์ หรือ 5.08% สู่ระดับ 107.69 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ โอเปกพลัสมีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการประชุมวันนี้ โดยจะเพิ่มกำลังการผลิต 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนพ.ค.

ขณะที่ก่อนหน้านี้ โอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในทุกเดือน นับตั้งแต่เดือนส.ค.2564 และมีกำหนดทยอยเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกเล็กน้อยสู่ระดับ 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนพ.ค.นี้

โดยโอเปกพลัสมีมติดังกล่าว แม้ว่าสหรัฐและหลายชาติที่นำเข้าน้ำมันต่างเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 139 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ด้านทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมออกแถลงการณ์ในวันนี้เกี่ยวกับแผนการระบายน้ำมันในคลังสำรองเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และบรรเทาภาวะพลังงานขาดแคลนในสหรัฐ หลังรัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนจะเปิดเผยแผนการระบายน้ำมันจำนวน 180 ล้านบาร์เรลออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) โดยจะมีการระบายน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วันเป็นเวลา 6 เดือน

โดยมาตรการดังกล่าวมีขึ้น ท่ามกลางคะแนนนิยมที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ของปธน.ไบเดน ก่อนที่สหรัฐจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย.

โดยการระบายน้ำมันจากคลังสำรองดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน และเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตรียมจัดการประชุมฉุกเฉินในวันพรุ่งนี้เพื่อหารือถึงแนวทางในการสกัดราคาน้ำมัน โดย IEA เคยมีมติเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ในการระบายน้ำมันจำนวน 60 ล้านบาร์เรลออกจากคลังสำรองเพื่อสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในตลาด

สำหรับ IEA ประกอบด้วยสมาชิก 31 ประเทศ โดยสมาชิกรายใหญ่ได้แก่ สหรัฐ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

Back to top button