สนค.เปิดตัวเลข “เงินเฟ้อ” เม.ย.เพิ่มขึ้น 4.65% ตามราคาพลังงาน-อาหาร

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือนเมษายนอยู่ที่ 4.65% เพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว หลังสถานการณ์ราคาพลังงาน และอาหารสด รวมถึงต้นทุนการผลิตยังพุ่งสูง พร้อมจับตามาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และสภาพอากาศ อาจเป็นปัจจัยเร่งเงินเฟ้อสูงขึ้น


นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อ เดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.65% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.73% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 0.34% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนอยู่ที่ 4.71% ยังคงระดับสูง

สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อเงินเฟ้อ ยังมีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงานของไทยที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้นถึง 12.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ยังไม่ส่งผ่านไปยังราคาขายปลีกมากนัก เนื่องจากมาตรการของภาครัฐ และความต้องการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 สำหรับสินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.65% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

อาทิ สินค้าในกลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 21.07% ส่งผลให้สินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 10.73% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะปรับสูงขึ้นตาม, หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 0.98% จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาและเริ่มปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันได 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565

ส่วนสินค้าในกลุ่มอาหาร สูงขึ้น 4.83% จากการสูงขึ้นของอาหารสดในกลุ่มปศุสัตว์ อาทิ ไข่ไก่ เนื้อสุกรไก่สด โดยราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ขณะที่ผักสดบางชนิดปรับขึ้นตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณผลผลิต เช่นเดียวกับน้ำมันพืช ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

นอกจากนี้อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น)) ปรับขึ้นเล็กน้อย สินค้าอื่นๆ ที่ปรับสูงขึ้น อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า) ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) เนื่องจากหมดโปรโมชั่นลดราคาแต่ราคาสินค้ายังไม่เกินช่วงแนะนำ

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 0.34% ซึ่งต่ำกว่าเดือนมีนาคม 2565 ที่อยู่ร้อยละ 0.66 สืบเนื่องมาจากราคาของผักสด ผลไม้สด เนื้อสุกร และไข่ไก่ ที่สูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงราคาปรับลดลง ส่วนอาหารสำเร็จรูปบางรายการราคาสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลราคา และการขอความร่วมมือภาคเอกชนตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น และเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4.71%

ด้านแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการตรึงราคาและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนและปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ

นอกจากนี้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ และพันธมิตรต่อรัสเซีย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

Back to top button