PTT คาดปีนี้นำเข้า “แอลเอ็นจี” 10 ล้านตัน รับดีมานด์ก๊าซผลิตไฟฟ้า

PTT คาดปีนี้นำเข้า “แอลเอ็นจี” เกือบ 10 ล้านตัน 10 ล้านตัน รับดีมานด์ก๊าซผลิตไฟฟ้า


นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่เกือบ 10 ล้านตัน แบ่งเป็นสัญญาระยะยาวของ ปตท. 5.2 ล้านตัน และนำเข้า Spot LNG อีกเกือบ 5 ล้านตัน ที่นำเข้าโดย Shipper

โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ให้ ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำเข้า LNG ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการนำเข้า LNG แล้วประมาณ  6 ลำ แบ่งเป็น ปตท. 3-4 ลำ และ กฟผ. 2-3 ลำ นอกจากนี้ กฟผ. มีแผนนำเข้าในช่วงเดือนพ.ค.นี้ อีก 1-2 ลำ

อย่างไรก็ตาม ปตท.ประเมินความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้คาดจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน หลังช่วงไตรมาส 1/65 พบว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 โดยความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ ป้อนเป็นเชื้อเพลิง 2,650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก็เริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตมากขึ้นตามทิศทางการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น คาดว่าไตรมาส 2/65 ความต้องการใช้ก๊าซฯ ยังจะเติบโตต่อเนื่อง

สำหรับกรณีที่กระทรวงพลังงานให้พิจารณาการนำเข้า LNG ในช่วงราคาถูก เก็บไว้แล้วทำประกันความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศในช่วงเดือน ต.ค.นี้

โดยปัจจุบันราคา LNG ตลาดโลกปรับลดลง อยู่ที่ประมาณ  20-21 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สูงถึง 84-85 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งหากเทียบกับการใช้น้ำมันเพื่อเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ราคา LNG ในระดับช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้มากกว่า ดังนั้นคาดว่าความต้องการใช้ LNG เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะยังเพิ่มขึ้น

ขณะที่สัดส่วนสัญญาก๊าซฯ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าควรเป็นการจัดหาภายใต้สัญญาระยะยาวประมาณ 70% และสัญญาระยะสั้น 30% จากก่อนหน้านี้ ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ทั้งสัญญาระยะยาวและระยะสั้นใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 50:50

สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับการนำเข้า LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยในส่วนของโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง คาดว่าเฟสแรก 2.5 ล้านตัน จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือน มิ.ย.หรือต้นเดือน ก.ค.นี้ ซึ่ง และสิ้นปีจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ รองรับนำเข้า LNG ได้ถึง 7.5 ล้านตัน

Back to top button