หมดเกลี้ยง 5 ล้านใบ! กองสลากฯ เล็งเพิ่มโควต้า รอบอร์ดเคาะ 23 มิ.ย.นี้

หมดเกลี้ยง 5 ล้านใบ! สำนักงานสลากเล็งเพิ่มจำหน่ายสลากดิจิทัล แอปฯ เป๋าตัง รอบอร์ดเคาะ 23 มิ.ย. ไฟเขียวเริ่มงวด 16 ก.ค.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์ม หรือสลากดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง จำนวน 5,173,500 ฉบับ สามารถจำหน่ายหมดเกลี้ยงเมื่อช่วงเที่ยง หลังเปิดจำหน่ายวันแรกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา หรือใช้เวลาจำหน่ายเพียง 4 วัน 6 ชั่วโมง

นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงความนิยมการซื้อสลากดิจิทัล ผ่านแอปฯ เป๋าตัง หลังเปิดจำหน่ายเป็นครั้งแรก ว่า แนวโน้มการเพิ่มปริมาณสลากดิจิทัลเพื่อจำหน่ายงวดถัดไป บนแอปฯ เป๋าตัง คงต้องใช้เวลาในการประเมินผลการจำหน่ายและผลตอบรับประมาณ 2 เดือน เพื่อดูผลในระยะยาว อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สำนักงานสลากจะมีการประเมินระบบตรวจรางวัลในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ และระบบการโอนเงินรางวัลว่าจะมีความราบรื่นเช่นเดียวกับการขายสลากหรือไม่ หลังจากนั้นจะนำผลการประเมินเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดสลากฯ วันที่ 23 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะทำให้รู้ชัดเจนว่าจะมีการเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลเท่าไร

ดังนั้นจะทำให้สลากดิจิทัลที่จำหน่ายวันที่ 17 มิถุนายน ซึ่งเป็นของงวดวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ยังคงจำหน่ายจำนวนเท่าเดิมที่ 5,173,500 ใบ และหากการบอร์ดสลากมีการเคาะจำนวนเพิ่มแน่ชัดในการประชุมวันที่ 23 มิถุนายนแล้ว ก็จะเริ่มขายสลากตามจำนวนที่เพิ่มใหม่ ของงวดวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ซึ่งจะเริ่มขายวันแรกวันที่ 2 กรกฎาคม 2565

“สลากที่เปิดขายบนแอปฯ เป๋าตัง เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นซุปเปอร์แอพ และเป็นสลากที่ผู้ค้ารายย่อยนำมาฝากขาย ซึ่งสลากบนแพลตฟอร์มทุกใบจะมีชื่อของผู้ค้าสลากที่เป็นเจ้าของโควต้ากำกับอยู่ ดังนั้น สลากทุกใบเป็นของรายย่อย และยอดขายที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจะมีการโอนให้ผู้ค้าทันที โดยสำนักงานสลากไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมใดๆ และอนาคตเมื่อผู้ค้าเห็นประโยชน์ของการขายสลากดิจิทัล ก็เชื่อว่าจะมีการนำสลากมาฝากขายเพิ่มขึ้น ยืนยันสำนักงานสลากไม่ได้แข่งขันกับใคร” นายลวรณกล่าว

สำหรับในส่วนของการขึ้นเงินรางวัลมีความสะดวก โดยสามารถเลือกมารับสลาก และขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากด้วยตนเอง หรือโอนเงินผ่านบัญชีที่ผูกไว้กับธนาคารกรุงไทย ภายใน 12 ชั่วโมง โดยได้กำหนดค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ในการโอนเงินรางวัลดำเนินการเช่นเดียวกับที่ใช้ในการขึ้นเงินรางวัลในปัจจุบัน คือ หากนำสลากไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากจะเสียเฉพาะค่าอากรแสตมป์ 0.5%

ส่วนการนำสลากไปขึ้นเงินที่ธนาคารกรุงไทย จะเสียค่าธรรมเนียม 1% และค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% นอกจากนี้กรณีมีผู้ถูกสลากดิจิทัลรางวัลที่ 1 มูลค่า 6,000,000 บาท กองสลากได้กำหนดว่าผู้ถูกรางวัลต้องมาขึ้นเงินรางวัลกับกองสลากเท่านั้น ซึ่งจะเสียค่าอากรแสตมป์ 30,000 บาทต่อใบ ทั้งนี้ ระยะต่อไปจะมีการเพิ่มช่องทางการโอนเงินรางวัลผ่านบัญชีธนาคารต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น

ด้านพ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้พัฒนาแอพ เป๋าตัง ให้มีฟีเจอร์ที่หลากหลายและรองรับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งพัฒนา 2 เรื่องหลัก อาทิ 1.เพิ่มฟังก์ชันลดราคาให้กับผู้ค้าลดราคาสลากได้ เพื่อลดปัญหาสลากค้างแผง และ 2.เร่งเพิ่มฟีเจอร์ให้กับผู้พิการทางสายตา โดยจะพัฒนาแอปฯ ให้สามารถสั่งการด้วยเสียง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น

อีกทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาที่สำนักงานสลากดำเนินการอยู่นั้น ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการจุดจำหน่ายสลาก 80 ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ กว่า 500 จุด และจะเรียกรายสำรองขึ้นมา เพื่อให้มีจุดจำหน่ายโครงการให้ครบ 1,000 จุด ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และโครงการลงทะเบียนผู้ซื้อจองล่วงหน้า กำลังเร่งดำเนินการคัดเลือกต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

“กรณีที่มีการกล่าวหาว่า สำนักงานสลากมีการไปไล่จับผู้ค้าสลากที่นำไปฝากขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น เพื่อนำมาขายบนแอพเป๋าตังเองนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งในการยึดสลากหรือตัดโควต้าผู้ค้าที่นำสลากไปขายบนแพลตฟอร์มอื่นนั้น สำนักงานสลากจะยึดโควต้าคืน เฉพาะกรณีตรวจสอบแล้วพบว่ามีการนำไปขายบนแพลตฟอร์มอื่นแบบยกเล่ม ซึ่งถือว่าทำผิดกติกาของสำนักงานสลากอย่างชัดเจน ที่ระบุว่าผู้มีโควต้าสลากจะต้องนำไปจำหน่ายปลีกเท่านั้น ซึ่งโควต้าสลากที่ยึดคืนมานั้น เป็นของผู้ค้ารายย่อยที่กระทำผิด ดังนั้น สลากที่ยึดมาก็จะกลับเข้าสู่ระบบการจองซื้อเหมือนเดิม เพื่อให้ผู้ค้ารายอื่นในระบบได้ทำการจองซื้อเพื่อนำไปขายในแต่ละงวดต่อไป” พ.ท.หนุน กล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าการออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ พ.ท.หนุน กล่าวว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ สำนักงานสลากจะเดินหน้าทำประชาพิจารย์ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 70 วัน และหลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

Back to top button