ส.อ.ท.ห่วงสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” บานปลาย ดันเงินเฟ้อ – ราคา “ดีเซล” ทะลุ 35 บ./ลิตร

ส.อ.ท.เกาะติดสงครามรัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิด หวั่นมีโอกาสบานปลายสู่พื้นที่ตะวันออกกลาง กดดันน้ำมันโลกพุ่ง กระทบดีเซลขายปลีกไทยทะลุเพดาน 35 บาทต่อลิตร หนุนเงินเฟ้อขึ้นต่อ พร้อมเรียกร้องรัฐเร่งดูแล SMEs หลังแนวโน้มไปต่อยากเพราะแบกต้นทุนเพิ่มขึ้น


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิด เนื่องจากเริ่มมีทิศทางที่ไม่เพียงยืดเยื้อ แต่อาจขยายพื้นที่ไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังมีสัญญาณความคุกรุ่นทั้งกรณี อิหร่านประกาศถึงเวลาในการปลดปล่อยปาเลสไตน์ออกจากอิสราเอล และรัสเซียได้แสดงท่าทีว่า ที่ราบสูงโกลันเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ ซึ่งหากความขัดแย้งรุนแรงขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อระดับราคาน้ำมันตลาดโลกปรับเพิ่มต่อเนื่อง และที่สุดอาจส่งผลให้ราคาดีเซลขายปลีกของไทยอาจต้องปรับเพดานทะลุเกิน 35 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไทยที่เหลือของปีนี้

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทยอยปรับขึ้นดีเซลต่อเนื่องจาก 30 บาทต่อลิตรมาสู่ล่าสุด 34 บาทต่อลิตร และสัปดาห์หน้าอาจขึ้นไปสู่กรอบเพดาน 35 บาทต่อลิตร ซึ่งเอกชนเองรับรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วและมีการวางแผนสำหรับการรับมือผลกระทบระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่กังวลคือราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวขึ้นสูง ซึ่งเดิมมีการคาดการณ์ว่าน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยทั้งปีที่ 100-120 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ล่าสุดประเมินว่าราคาจะปรับขึ้นไปที่ 110-120 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งอาจทำให้ดีเซลทะลุไปสู่ระดับ 40 บาทต่อลิตรได้ ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังติดลบกว่า 8.6 หมื่นล้านบาทหากน้ำมันโลกยังพุ่งสูงและรัฐอุดหนุนต่อเนื่องโอกาสแตะ 1 แสนล้านบาทก็มีเช่นกัน จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่ารัฐจะมีแพคเกจออกมาเช่นไร

นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 มีการส่งสัญญาณจากภาครัฐที่อาจต้องปรับขึ้นอีกอย่างน้อย 40 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่จ่ายรวมแตะ 4.40 บาทต่อหน่วย ปัจจัยค่าพลังงานเหล่านี้ จะยิ่งซ้ำเติมต้นทุนการผลิตสินค้ามากขึ้น ซึ่งยังไม่รวมกับต้นทุนอื่นๆทั้ง ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบ ฯลฯ ที่มีราคาสูงตาม และจะทยอยสะท้อนไปยังราคาสินค้า ดังนั้นจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะยิ่งสูงขึ้นจากล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไป พฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วน 5 เดือน อยู่ที่ 5.19% โดยธนาคารแห่งประเทศไทย  คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้ของไทยจะอยู่ที่ 4.9% หากระดับน้ำมันโลกพุ่งสูงเงินเฟ้อ 6-7% ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน

นายเกรียงไกร ยังระบุว่า ภาคการส่งออกในธุรกิจรายใหญ่ๆ ยังมีศักยภาพในการแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs โดยเฉพาะร้านอาหาร หรือสินค้าที่เน้นตลาดในประเทศอาจไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ท่ามกลางแรงซื้อประชาชนที่ต่ำ ส่งผลให้บางรายเลือกที่จะไม่ไปต่อ และแนวโน้มต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ย่อมกระทบกับเอสเอ็มอีมากขึ้น แม้ว่าไทยจะมีการเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบก็ตาม จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งเข้ามาแก้ไขและดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกรณีพิเศษแบบเร่งด่วน

Back to top button