เฟดเอฟเฟกต์! “ม.หอการค้าฯ” คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 3 รอบ 0.75% กันเงินไหลออก

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินการขึ้น กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย0.25% ของการประชุมที่เหลือในปีนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และป้องกันเงินทุนไหลออกนอกประเทศ


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่า หากพิจารณาจากสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.และดูจากทิศทางการปรับดอกเบี้ยโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% สกัดอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น 

สำหรับในส่วนของไทยเอง คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมทั้ง 3 ครั้งที่เหลือของปี รอบละ 0.25% แต่คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกประชุม กนง.นัดพิเศษ ก่อนที่จะมีการประชุมตามรอบปกติในเดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายนเพราะไม่เช่นนั้น จะส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาได้ อีกทั้งไม่ได้มีเหตุที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

นายธนวรรธน์ คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ คงจะขึ้นในเดือนสิงหาคม และอาจจะขึ้นทุกครั้ง รวม 3 ครั้ง ส่วนการประชุมนอกรอบ หรือประชุม กนง.นัดพิเศษในขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็น เพราะการประชุมนอกรอบจะต้องมีความผันผวนรุนแรง หรือมีเหตุการณ์คาดไม่ถึงที่ทำให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ถ้ามีประชุมนอกรอบ และขึ้นดอกเบี้ยทันทีในเดือนกรกฎาคม อาจจะเป็นจิตวิทยาเชิงลบ แต่ถ้ามีเงินไหลออกรุนแรง ตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นว่าไทยสกัดเงินเฟ้อช้า และไปส่งผลในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ของไทย ก็อาจต้องมีประชุมฉุกเฉิน เพื่อขึ้นดอกเบี้ยก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นเร็วกว่ากำหนด         

นายธนวรรธน์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การขึ้นดอกเบี้ย เป็นการสกัดกั้น 2 อย่างในทางจิตวิทยา คือ การชี้ว่าธนาคารกลางต้องการป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้นักลงทุนมั่นใจว่า ไทยจะไม่ปล่อยให้เงินเฟ้อขึ้นสูงโดยไม่จำเป็น และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันการขึ้นดอกเบี้ย ช่วยทำให้เงินทุนไม่ไหลออกมากเกินไป ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่อ่อนค่าเกินพื้นฐานที่สำคัญเนื่องจากการขาดความมั่นใจเรื่องดอกเบี้ย ดังนั้น เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นการดูแล 2 ระบบ คือ การดูแลเงินเฟ้อทางจิตวิทยา และดูแลค่าเงิน

นอกจากนี้การที่รัฐบาลเลือกประคองราคาน้ำมันดีเซลต่อไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ก็ทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังเลือกจะดูแลราคาพลังงาน และราคาพลังงานยังไม่เป็นแรงกดดันสูงเหมือนเช่นในประเทศอื่นที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปตามกลไลตลาดโลกอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงทำให้ราคาน้ำมันในประเทศค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

Back to top button