สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 มิ.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 มิ.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 500 จุดในวันอังคาร (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นเป็นวงกว้าง หลังมีรายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,946.99 จุด ร่วงลง 491.27 จุด หรือ -1.56%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,821.55 จุด ลดลง 78.56 จุด หรือ -2.01% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,181.54 จุด ร่วงลง 343.01 จุด หรือ -2.98%

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นต่อในวันอังคาร (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น หลังจีนผ่อนคลายข้อจำกัดในการควบคุมโรคโควิด-19 และหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 416.19 จุด เพิ่มขึ้น 1.10 จุด หรือ +0.27%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,086.02 จุด เพิ่มขึ้น 38.71 จุด หรือ +0.64%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,231.82 จุด เพิ่มขึ้น 45.75 จุด หรือ +0.35% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,323.41 จุด เพิ่มขึ้น 65.09 จุด หรือ +0.90%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกขึ้นต่อในวันอังคาร (28 มิ.ย.) โดยแตะระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น หลังจีนตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลก

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,323.41 จุด เพิ่มขึ้น 65.09 จุด หรือ +0.90% ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันอังคาร (28 มิ.ย.) หลังมีรายงานว่าซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันเนื่องจากกำลังการผลิตของทั้งสองประเทศใกล้เต็มศักยภาพแล้ว โดยข่าวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกอาจเผชิญภาวะตึงตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2.19 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 111.76 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2.89 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 117.58 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (28 มิ.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2565 ของสหรัฐในวันนี้ รวมทั้งการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่โปรตุเกสในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 3.6 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,821.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 36.2 เซนต์ หรือ 1.71% ปิดที่ 20.806 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 5.3 ดอลลาร์ หรือ 0.59% ปิดที่ 905.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 3 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,861.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.54% แตะที่ระดับ 104.5050

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 136.29 เยน จากระดับ 135.44 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9572 ฟรังก์ จากระดับ  0.9563 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2871 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2879 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0525 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0586 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2183 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2277 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6913 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6923 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button