สัปดาห์นี้! รัฐสภา เตรียมถกสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร “100-500”

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ย้ำการใช้สูตรหาร500 เพื่อหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรค อาจขัดต่อเจตนารมณ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมี 100 คน ขณะที่ประธานวิปฯรัฐบาล ยังไม่สรุปจะใช้สูตรใดในการหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ รอที่ประชุมรัฐสภาเคาะ


นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล เปิดเผยถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประเด็นสูตรคำนวณ สส.บัญชีรายชื่อ ว่า เป็นเรื่องที่รัฐสภาต้องพิจารณา โดย กรรมาธิการเสียงข้างมากต้องการใช้ สูตรหาร 100 ทำให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ต้องสงวนคำแปรญัตติเอาไว้ถึง 11 คน ก็จะต้องมาอภิปรายข้อดี ข้อเสียกันอีกครั้ง สำหรับแนวทางการลงมติเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่จะพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ

ส่วนความเห็นต่างกันในพรรคร่วมรัฐบาล นายนิโรธ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้มีความเห็นอะไร เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา แต่จากที่พูดคุยกัน ของฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ติดใจ ว่าจะโหวตเลือกสูตรหาร 100 หรือ หาร 500

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ระบุว่า ประเด็นมาตรา 91 การเสนอให้หารด้วย 500 นั้น ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตาม มาตรา 93 และมาตรา 94 จึงขอย้ำว่าในชั้นกรรมาธิการ ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และเห็นตรงกันว่า เรามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าได้แก้ไขเจตนารมณ์ต่อประเด็นการเลือกตั้งไปแล้ว คือจากระบบสัดส่วนผสม จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ และให้มีการคิดคำนวณอย่างชัดเจน คือส.ส.เขต 400 เขต ใครได้คะแนนสูงสุด ก็เป็นส.ส. ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ให้คำนวณจากจำนวนบัญชีรายชื่อคือ 100 ดังนั้นรัฐบาลจึงควรทำตามหลักการนี้  ซึ่งที่ประชุมรัฐสภา น่าจะได้มีการพิจารณาในวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้

สำหรับประเด็น สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเกิดขึ้น หลังจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. … ) พ.ศ. … โดยให้ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 และกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จากเดิม 1 ใบเพื่อเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิมมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

โดยการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้ใช้วิธีเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 นำมาซึ่งการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น และมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ โดยกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ให้นำคะแนนพรรคทั่วประเทศหารด้วย 500 เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อหนึ่ง ส.ส.พึงมี จากนั้นจึงจะไปคิด ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคได้ เมื่อได้ ส.ส.พึงมีออกมาก็จะสามารถคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ โดยเอา ส.ส.พึงมีลบด้วย ส.ส.เขต ซึ่งก็แล้วแต่ว่าพรรคนั้นได้ ส.ส.เขตมากหรือไม่ หากพรรคใดที่ได้ ส.ส.เขตมากก็ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ก็มี ส.ส.บางส่วน เสนอว่าให้นำทั้งคะแนนพรรคและคะแนนเขตมาบวกกันและหารด้วย 500 ซึ่งเมื่อหารแล้วจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน จากนั้นจึงไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคโดยนำคะแนนเขตทุกเขตมาบวกกันจากนั้นจึงค่อยไปบวกกับคะแนนทั่วประเทศเลือกเอาจากทุกเขต และหารด้วยคะแนนเฉลี่ยจะได้ ส.ส.พึงมีของพรรค

ทั้งนี้สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้ง 2 สูตร ในมุมมองของกรรมาธิการเสียงข้างมาก มองว่าอาจเกิดปัญหาในอนาคต และเห็นว่าเจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด ต้องการให้แก้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน การหารด้วยตัวเลขจำนวน 100 จากคะแนนพรรคการเมือง จึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

Back to top button