เปิดฉากทัศน์! “ศบค.” คาดติดเชื้อ “BA.4-BA.5” พีคสุด ก.ย.นี้

ศบค.เผย 23 จังหวัดแนวโน้มโควิดพุ่งสูง เป็น Small Wave พร้อมแสดงความเป็นห่วงช่วงเดือนกันยายนระบาดสูงสุด พร้อมเน้นย้ำทุกฝ่ายช่วยกันรักษามาตรการป้องกัน เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. เปิดเผยผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า พิจารณาประเด็นสำคัญ 5 เรื่อง คือ 1.สถานการณ์โควิด-19 ทั้งโลกและไทยผ่านการติดเชื้อระลอกใหญ่มาแล้ว โดยขณะนี้เป็นระลอกเล็กๆ การเสียชีวิตก็ลดลง แม้จะมีสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 โดยอัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 11.9% หากพิจารณาตามรายสัปดาห์ตัวเลขป่วยใหม่ถือว่าลดลง แต่รายวันอาจเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย

ส่วนกรณีที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น กรมควบคุมโรคมีข้อมูลการรักษาแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วย 207,643 คน เฉลี่ยวันละ 2.9 หมื่นคนทั่วประเทศ นี่คือตัวเลขป่วยจริง ซึ่งสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อแนะนำว่า มีความสำคัญที่ต้องสื่อสารประชาชนรับทราบว่า หากป่วยจริงให้ไปแสดงสิทธิ เพื่อรับยาและการดูแล ซึ่งจะต้องเป็นกลุ่มอาการไม่หนัก

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า หลังจากนี้ที่ต้องติดตาม คือ ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งโรงพยาบาลมีเตียงรองรับเพียงพอ แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็มีการคืนเตียงไปยังผู้ป่วยอื่นๆ ที่มารักษา เช่น มะเร็ง โรคติดเชื้ออื่นๆ เตียงที่ดูแลปอดอักเสบก็เริ่มลดน้อยลง แต่จำนวนเตียงที่เหลืออยู่ ยังสามารถรองรับสถานการณ์ปัจจุบันได้ แม้กระทั่งผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจทั้งประเทศมี 327 ราย และแม้ผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์แม้ลดน้อยลง แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงขอให้กลุ่ม 608 มารับวัคซีน เพราะปัจจุบันคนที่เอาเชื้อไปติดผู้สูงอายุ คือลูกหลานที่ออกไปมีกิจกรรมนอกบ้าน และยังขอความร่วมมือสวมหน้ากากกันให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตของสูงอายุ

ส่วนจังหวัดใดที่มีแนวโน้มสถานการณ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง พบว่า 54 จังหวัดแนวโน้มลดลง โดยมี 23 จังหวัด มีขาขึ้นแบบระลอกเล็กๆ คือ กทม. ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต ค่อนข้างเป็นก้อนใหญ่พอสมควร จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว ส่วนจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง ตาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สงขลา กระบี่ พังงา นราธิวาส ตรัง ปัตตานี และยะลา จึงขอให้ประชาชนทั้ง 23 จังหวัดนี้

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังเสนอแนวทางขับเคลื่อนโควิด-19 หลังการระบาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่โรคประจำถิ่น มียุทธศาสตร์ที่ต้องวางแผนไว้ โดยเสนอแผนให้มีมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการทางสังคมและองค์กร และมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกัน มี 4 มาตรการสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมายสังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์

สำหรับการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตหลังการระบาดใหญ่ ระลอกเมษายน – สิงหาคม 2564 เป็นยอดระลอกหนึ่ง และมีระลอกเดือนมกราคม 2565 ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง ก็คาดว่า หลังจากนี้จะมีการเกิดยอดภูเขาเล็กๆ ขึ้นมาได้ ทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ขึ้นกับเหตุปัจจัยคือ ภูมิคุ้มกัน การสวมหน้ากาก และการรวมกลุ่มกันทำกิจการกิจกรรม และลักษณะของเชื้อคือ BA.4 และ BA.5 ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยเรียนรู้มา 2 ปีกว่า จึงขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันดูแลภาพรวมด้วยกัน จะได้ไม่เจอเวฟที่สูงกว่านี้ โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะไปสูงช่วง กันยายน และ พฤศจิกายน 2565 หลังจากนั้นน่าจะมีแนวระนาบลงมา หากพวกเราช่วยกันฉากทัศน์นี้ก็อาจจะกดให้ต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ และการเสียชีวิตก็จะเพิ่มช่วงกันยายนเช่นกัน

ทั้งนี้การพิจารณาเกณฑ์ความรุนแรง ปัจจุบันไทยอยู่ในช่วงสีเขียวมีผู้ติดเชื้อรักษาตัวนอนในโรงพยาบาลประมาณ 2 พันรายต่อวัน แต่ ศบค.อยากลงไปสู่ช่วงสีขาว คือ มีผู้ติดเชื้อรักษาตัวต่ำกว่า 2 พันราย แต่หากมีสมอลเวฟอาจเป็นสีเหลืองคือรุนแรงน้อย 4 – 6 พันรายต่อวัน จึงต้องสร้างความตระหนักประชาชน ส่วนสีส้มคือรุนแรงปานกลาง มีผู้ป่วย 6 – 8 พันรายต่อวัน และสีแดงคือรุนแรงมาก 8 พัน – 1 หมื่นรายต่อวัน

Back to top button