สูตรหาร 500! หยุด “แลนด์สไลด์” หรือหลุม “กับดัก” ฝังตัวเอง

การเมืองนับจากนี้อยู่ในช่วง “นับถอยหลัง” เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2564 แต่กติกาใหม่ที่ว่าอาจไม่ได้สร้างความได้เปรียบให้กับบางพรรคการเมือง จนนำไปสู่การเกิด “สูตรหาร 500” เพื่อใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ


หากนับอายุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือได้ว่าเดินเข้าสู่ช่วงสุดท้ายกับการทำงานฝ่ายบริหาร ซึ่งจะครบวาระการทำงานในปี 2566 นั้นหมายความว่า ทุกพรรคการเมืองเริ่มต้นนับถอยหลัง และเตรียมความพร้อมเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งใหญ่ ที่กติกาในสนาม “ผู้แทนราษฎร” ต่างออกไปจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาได้ปรับแก้ไขจากการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมด้วย “บัตรใบเดียว” มาเป็นการเลือกตั้ง “บัตรสองใบ” ที่เราสามารถเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ เหมือนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550

นี่จึงเป็นที่มาที่การลงมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมากับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … ในวาระ 2-3  จึงเกิดปรากฎการณ์ “กลืนน้ำลายตัวเอง” เมื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จับมือกับ ส.ว. โหวตให้การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ให้ใช้สูตร “หาร 500” ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย ซึ่ง นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เสนอความเห็นไว้ ขณะที่มติเสียงข้างมากของ กมธ.มีข้อเสนอให้ใช้แบบหารด้วย 100

คำถามที่ตามมา… เหตุผลอะไร ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. จึงเลือกที่วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีอยู่เพียง 100 เสียง ด้วยการใช้จำนวน 500 เป็นตัวหารที่อาจดูแล้วไม่สมเหตุสมผลกับความสัมพันธ์  หลังทุกฝ่ายตัดสินใจเปลี่ยนกติกาหลักในการเลือกตั้ง ซึ่งหลายคนอาจมองว่า อาจไม่มีผลอะไรมากนัก เมื่อเทียบสัดส่วนจากจำนวน ส.ส.ทั้งสภาฯ ที่มีถึง 500 เสียง จังหวัดปัตานี นี่คือการพลิกเกมหนีตาม่องล่าย ตราบใดที่ยังมี 250 ส.ว.เป็นกองหนุนในการเลือก “นายกรัฐมนตรี” แม้พรรคเพื่อไทยจะประกาศ “แลนด์สไลด์” ก็ตาม

ในมุมมองของ รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า การพลิกมติไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะมีการส่งสัญญาณมาตั้งแต่ต้น หลังมีรายชื่อกรรมาธิการที่มาจากพรรคเมืองขนาดเล็ก ซึ่งกันและกัน ครม. และเป็นคนที่เสนอสูตรหาร 500 ทำให้คิดได้ว่ามีการเตรียมการไว้ก่อนจากฝั่งรัฐบาลหรือไม่ สะท้อนว่าการต่อสู้นี้เป็นเพียงเทคนิคทางการเมืองที่จะทำให้ระบบเลือกตั้งเป็นกลไก หรือเครื่องมือการรักษาอำนาจ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ก็เป็นพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้โอกาสจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีมากกว่าเมื่อใช้ “สูตรหาร 500”

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2564 ไม่สะเด็ดน้ำ ทำให้มีบทบัญญัติบางส่วนที่สนับสนุนแนวคิดหาร 500 ว่ายังทำได้ แต่โดยหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แม้มีบทบัญญัติตกค้างจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม ก็ต้องไปดูเนื้อหารัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ รวมทั้งเจตนารมณ์  ซึ่งรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 กำหนดชัดเจนระบบเลือกตั้งเป็นระบบคู่ขนาน 2 ส่วน คือส.ส.แบบแบ่งเขตและ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่มาตรา 91 เขียนชัดเจนการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กัน โดยตรงกับคะแนนเสียง พรรคนั้นได้รับคือการหารด้วย 100

ซึ่งสอดคล้องกับการคำนวณของ สมชัย ศรีสุทธิยากร โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และอดีต กกต. ได้วิเคราะห์ว่า  การคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ภายใต้สูตรหาร 500 ในระบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคที่ชนะในระบบเขตมาก จะได้บัญชีรายชื่อน้อยลง ส่วนพรรคที่แพ้เลือกตั้งในระบบเขต  หากมีคะแนนนิยมในบัตรใบที่เลือกพรรคมาก จะได้รับการจัดสรร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อมาก โดยพรรคก้าวไกล อาจเป็นพรรคที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้มากที่สุด และอาจมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ถึง 30 คน ส่วนพรรคเพื่อไทยแม้ว่าจะได้บัญชีรายชื่อน้อยลง แต่จะไม่ถึงขนาดเป็นศูนย์ หากส่งลงครบ 400 เขต น่าจะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้จำนวนหนึ่ง ขณะที่พรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว แม้ดูเหมือนจะได้อานิสงส์จากระบบนี้ แต่ต้องเบียดแย่งกันมากขึ้นจากสัดส่วนที่ลดลง

ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 คือการหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด  ขณะที่หาร 100 คือการหารด้วยจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งผลลัพธ์จะแตกต่างกันมาก  ถ้าใช้จำนวนคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2562) คือ 35,561,556 คะแนน มาเป็นตัวตั้งในการคำนวณ ถ้าหารด้วย 100 จะเท่ากับ ส.ส. 1 คนต้องได้ 355,615 คะแนน ขณะที่หารด้วย 500 จะเท่ากับ ส.ส. 1 คนต้องได้ 71,123 คะแนนเท่านั้น ดังนั้นพรรคเล็ก จึงต้องการสูตรหาร 500 และมีการวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึง พรรคที่จะได้เปรียบคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งในระบบนี้มาแล้ว 4 ครั้ง โดยเป็นแลนด์สไลด์ คือเกินครึ่งถึง 2 ครั้ง  การเปลี่ยนใจมาเลือกใช้สูตรหาร 500 จึงวิเคราะห์ได้ว่า เพื่อลดความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทย หรือถ้าใช้คำแบบสื่อคือเพื่อสกัด “แลนด์สไลด์” นั่นเอง

แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นที่ ผศ.ดร.ปริญญา เป็นห่วงคือ การใช้จำนวน 500 หาร แต่มีจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ให้จัดสรรเพียง 100 จะเกิดปัญหาว่าจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคจะรวมกัน เกิน 100 ที่นั่งแน่นอน แล้วจะทำอย่างไรเมื่อรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 100 ที่นั่งเท่านั้น

คงไม่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สูตรหาร 500” กำลังสร้างความยุ่งยากนับจากนี้  เมื่อกติกาการเลือก ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนที่ประชาชนตั้งใจเลือกเข้าไป ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” เพราะ ส.ส. 100 คนที่ได้จากพรรคการเมือง อาจไม่ใช่ความเห็นของ “คนส่วนใหญ่” สุดท้ายเรื่องนี้คงต้องไปจบที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าสิ่งที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.คิด เพื่อหวังหยุดคำว่า “แลนด์สไลด์” ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

Back to top button