ฝ่ายค้านรุมอัด! “เสี่ยหนู” ทำ “กัญชาเสรี” ประโยชน์ทับซ้อน-ไร้กฎหมายคุม

พรรคฝ่ายค้านได้เริ่มต้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “อนุทิน ชาญวีระกุล” จัดหนักนโยบาย “กัญชาเสรี” ทำผิดวัตถุประสงค์การใช้ ละเมิดกฎหมายโลก แถมยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนในทางธุรกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเริ่มเข้าสู่การอภิปรายรัฐมนตรีรายบุคคล โดยเริ่มจากนายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เรื่องนโยบายกัญชาเสรี

โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เป็นคนแรกที่เริ่มต้นอภิปราย โดยระบุว่า ทั้ง 2 ท่าน ร่วมกันจัดทำนโยบายกัญชาโดยไม่สุจริตใจ ทำให้เกิดการละเมิดกติกาโลก เนื่องจากไทยได้ไปลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ 1961 และกฎหมายทางการแพทย์ แถมยังละเมิดรัฐธรรมนูญไทย และมติของรัฐสภาไทย แถมยังละเลยไม่ควบคุมกัญชา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศ

นายสุทิน ยังได้เปิดคลิปเนื้อหาการปราศรัยช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยเนื้อหาใจความส่วนหนึ่งในคลิประบุว่า “กัญชาเป็นยาพารวย เป็นยารักษาโรค และนำมาพี้สูบกันเองได้” ซึ่งการประกาศนโยบายดังกล่าวเป็นการติดกระดุมผิดเพราะการพูดขณะนั้นผิดกฎหมายโลก และกฎหมายไทยทุกข้อ โดยเฉพาะประโยชน์ที่ว่า “สามารถนำไปพี้และสูบได้ทุกคน” และนโยบายดังกล่าวถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล  ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องจำยอม และกลายเป็นนโยบายของรัฐบาลทันที นโยบายกัญชาที่ออกมาเป็นการละเมิดเกินเลยกว่าที่รัฐสภาอนุมัติ แม้จะบอกว่าหลายประเทศทำได้ แต่มีหลายประเทศที่ละเมิด และที่ละเมิดอย่างรุนแรง คือประเทศแคนนาดา และประเทศอุรุกวัย ที่ ตอนนี้กำลังถูกทั้งโลกลงโทษ เพราะเปิดเสรีทางกัญชา

แม้ว่ามีกฎหมายควบคุมกัญชงกัญชาออกมา แต่สรรพคุณยาเสพติดก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปด้วย หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่จะได้ เรื่องเศรษฐกิจก็ไม่คุ้ม เรื่องสังคมก็จะเละ การที่ทำแบบนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะประโยชน์ทางการเมืองที่จำเป็นต้องทำ เพราะได้มีการหาเสียงๆไว้แล้ว จึงต้องรักษาฐานเสียงทางการเมือง ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ได้ประโยชน์ในการอยู่ในอำนาจและมีพรรคร่วมรัฐบาล

นอกจากนี้ นายสุทิน ยังระบุว่า สังคมยังมีข้อสงสัย การที่บริษัท STPI เครือ “ซิโน-ไทย” ได้ตั้งบริษัทลูกถือหุ้น 100% แตกไลน์ผันตัวจากธุรกิจเหล็กมาลุยธุรกิจกัญชง ความเคลื่อนไหวในธุรกิจเช่นนี้เป็นผลมาจากคนในตระกูลเดียวกันตั้งใจจะผลักดันกฎหมายกัญชาเสรีให้ผ่านหรือไม่ แม้ว่านายอนุทินจะเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้มีส่วนกับบริษัทดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ประเด็นนี้ไม่อาจทำให้ประชาชนสิ้นสงสัยเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” มูลค่าหลายพันล้านนี้ได้เลย

นายสุทิน ย้ำว่า ไม่ได้คัดค้านกัญชาแต่ต้องอยู่ในกรอบการแพทย์ การวิจัย ไม่มีเรื่องสันทนาการ และไม่ขัดต่อมติโลก แต่ดูจากเจตนาของนโยบายกัญชาวันนี้ถือว่าสายไปแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้ถือว่าความผิดสำเร็จแล้วจึงกังวลว่า ยูเอ็นจะขึ้นบัญชีให้ไทยเป็นประเทศที่ละเมิดของกฎคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ ซึ่งจะทำให้ไทยเสียสิทธิ์ทางยา และอาจถึงขั้นงดให้ความร่วมมือกับไทยในการปราบปรามยาเสพติด หากไทยอย่างดื้ออาจจะถูกปรับออกจากภาคี ซึ่งจะทำให้ไทยไม่เหลือทั้งเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือของประเทศ

ด้าน นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายอนุทินเช่นกันในเรื่อง “กัญชาเสรี” ซึ่งนายอนุทิน อ้างว่า การปลดล็อกกัญชานั้นเป็นการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ที่ผ่านมา นายอนุทินได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนว่า ทุกคนจะปลูกกัญชาได้จนร่ำรวย สามารถนำกัญชาไปผสมอาหารหรือเสพได้ ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกัญชาทางการแพทย์เลย

ภายหลังในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เมื่อพืชกัญชาและกัญชงได้ถูกปลดล็อกไปแล้ว แต่กลับไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใด ๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมอายุของผู้ครอบครอง การซื้อขาย หรือการควบคุมการใช้ส่วนของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์ เกิดเป็นสูญญากาศทางกฎหมาย จนสร้างความกังวลให้กับประชาชนจำนวนมาก

โดยนพ.วาโย มองว่า นายอนุทิน จงใจสร้างสูญญากาศทางกฎหมาย เพราะในระหว่างที่ปลดล็อกกัญชากัน กลับเพิ่งมีการยื่น ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 เมื่อเป็นร่างฯ เกี่ยวด้วยการเงินก็ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่รัฐมนตรีประกาศปลดกัญชาออกจากยาเสพติด

เมื่อนายกรัฐมนตรีอนุมัติและส่งกลับมาก็ปิดสมัยประชุมไป 3 เดือน เพิ่งจะได้บรรจุเข้าวาระปลายเดือนพฤษภาคม และรัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติดฯ

ที่ผ่านมา นายอนุทิน ส่งเสริมการผลิตกัญชา โดยอ้างว่าเพื่อรองรับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ โดยผูกให้วิสาหกิจชุมชน 1 แห่งทำร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 แห่งเท่านั้น และให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เป็นผู้รับซื้อ แต่สุดท้าย อย. ไม่ได้รับซื้อในจำนวนที่คาดไว้ เพราะหมอไม่ใช้ นักวิจัยไม่เขียนโครงการ จึงต้องหาช่องทางปล่อยของ

Back to top button