DMT รุกประมูล 3 โปรเจกต์ยักษ์ 1.02 แสนล้าน ดันรายได้ทางด่วนปีนี้โต 50%

DMT เปิดแผนครึ่งปีหลัง เน้นบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ลุยร่วมประมูลทางด่วน 3 โปรเจกต์ยักษ์ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท มั่นใจรายได้ค่าผ่านทางปีนี้เข้าเป้าโต 50%


นายธานินทร์ พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจบนหลักการการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการยกระดับและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับองค์กรอย่างยั่งยืน เน้นย้ำความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้ให้บริการทางด่วน และเตรียมพร้อมการลงทุนโครงการใหม่ๆ ในอนาคต

โดยในครึ่งปีหลัง คาดการณ์ภาครัฐมีแผนจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนทางด่วนที่อยู่ในแผนธุรกิจของบริษัทฯ 3 สายทาง มูลค่ารวม 102,443 ล้านบาท คือ ได้แก่ 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 Km มูลค่า 39,956 ล้านบาท, 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) ระยะทาง 25 Km มูลค่า 48,310 ล้านบาท, 3.โครงการทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 4 Km มูลค่า 14,177 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทฯ มีความพร้อมเป็นอย่างมากสำหรับการเข้าร่วมประมูลงานทั้ง 3 โครงการ ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพของบุคลากร ทางด้านการเงินที่มีศักยภาพในการระดมทุน ในด้านการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพของงานการบริหารทางด่วน รวมทั้งความชำนาญทางเทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางและความปลอดภัยที่ทันสมัยและได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทฯได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันอยู่ในกระบวนการของภาครัฐตามข้อกำหนด พรบ. ร่วมทุนฯ

ขณะเดียวกันดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ DMT เปิดเผยว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าแผนการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.2 ล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปีก่อนที่มีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท เนื่องจากปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางในครึ่งปีหลังน่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น 40% จากช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากมีการเปิดภาคเรียน Onsite การปรับลดมาตรการต่างๆในการเดินทางเข้าประเทศไทยและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการต่างๆเพื่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทย

อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการเปิดใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System) เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางยกระดับได้รับความสะดวก รวดเร็ว และให้ความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่บริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนา

“ในครึ่งปีแรกบริษัทฯดำเนินการเป็นไปตามแผนงานทั้งในด้านการยกระดับงานคุณภาพโดยได้รับการรับรอง ISO9001 และ ISO14001 เพื่อวางรากฐานการทำงานให้เป็นมาตรฐานสากล ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพทางยกระดับเพื่อความพึงพอใจของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ระบบ M-Pass / Easy Pass การชำระค่าผ่านทางด้วยบัตร EMV และ QR Payment, รวมไปถึงการติดตั้งทดลอง/ทดสอบระบบ Multi Lane Free Flow (MLFF) และในครึ่งปีหลังจะทดสอบการเชื่อมต่อกับระบบSingle Platform ของกรมทางหลวง” ดร.ศักดิ์ดา กล่าว

สำหรับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยได้มีการพัฒนาระบบจัดการจราจรและเฝ้าระวัง มีศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงาน การตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติ หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ โดยได้มีการทดสอบระบบ AI or Artificial Intelligence ของกล้องวงจรปิด จำนวน 159 ตัว ในไตรมาส 2 เพื่อให้การตรวจจับมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ถือเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งจะนำไปต่อยอดโครงการใหม่ๆ ในอนาคต

Back to top button