ทางเลือก ทางรอด “พล.อ.ประยุทธ์” ปม “นายกฯ 8 ปี”

ปัญหาวาระการดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังถกเถียงกันถึงเงื่อนเวลา 8 ปี ว่าจะครบเมื่อใด เพราะต้องตีความจุดเริ่มต้นของเรื่อง และดูเหมือนจะมีทางออกที่อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลายเป็นประเด็นที่ยังรอคำตอบ สำหรับเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่ง “ นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของเงื่อนเวลาที่ผู้ร่างกำหนดเพียงแค่การนับเวลาในการดำรงตำแหน่ง แต่ไม่ได้ระบุจุดเริ่มต้น จึงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตีความว่า การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเริ่มต้นตอนไหน

1.วันที่ 24 สิงหาคม 2565 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

2.วันที่ 9 มิถุนายน 2570 เพราะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560

3. พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ถึงปี 2568 โดยยึดถือวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นหลัก เพราะสถานะเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เริ่มขึ้นในตอนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

สำหรับในมุมมองของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งเป็นนักการเมืองที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มองเรื่องสถานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นหนังม้วนยาว เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องสถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้วินิจฉัยคาดว่า ยังต้องใช้เวลา 3 – 4 เดือนในการพิจารณา และเชื่อว่า หากศาลตัดสินว่าสถานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี ก็จะไม่กระทบต่อการทำหน้าที่หลังวันที่ 23 สิงหาคม เพราะศาลจะต้องมีการเขียนคำวินิจฉัยสรุปเอาไว้

แต่เรื่องนี้ยังมีอีก 1 ทางออก เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ ชิงประกาศลาออก หรือยุบสภา ก่อนวันที่ 23 สิงหาคม หรือ ก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งมีโอกาสที่ศาลอาจจะมีคำสั่งว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง ได้ลาออก หรือ ยุบสภาไปแล้ว ความเป็นนายกรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลง คดีนี้ไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ผลที่ตามมาคือ  พลเอกประยุทธ์ก็จะเป็นแคนดิเดต หรือ ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองได้อีก เพราะศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยเรื่องวาระของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าครบหรือยัง พรรคการเมืองก็สามารถนำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไปใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าได้

แต่ในมุมมองของอาจารย์คณะนิติศาสตร์ 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย ที่ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึง ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีว่า ในบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่”

เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ จึงเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และดังนั้น จึงเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” หมายความว่า การนับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ย่อมนับรวมไปด้วยจากผลของบทเฉพาะกาล จึงทำให้ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดนี้ต้องรอบทสรุปจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่จะต้องตีความชี้ขาดถึงสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ และใช้ช่วงเวลาใดในการนับจุดเริ่มต้นของการเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี เพราะท้ายที่สุดเรื่องนี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า กับรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือท้ายที่สุดเรื่องนี้ อาจจะจบลงด้วยตัว “พล.อ.ประยุทธ์” เองด้วยการลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภา เพื่อให้เรื่องนี้ยังเป็น “ช่องว่าง” ทางกฎหมาย ที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางเมืองในอนาคตต่อไป

 

Back to top button