แนวโน้มดี ! สภาพัฒน์ฯ เผยอัตรา ”ว่างงาน” Q2 ลดต่ำสุด – “หนี้ครัวเรือน” ชะลอตัว

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยไตรมาส 2 ปีนี้ อัตราคนไทยว่างงานลดลง เหลือเพียง 5.5 แสนคน ต่ำสุดตั้งแต่โควิดระบาด ขณะที่หนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอตัว


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/65 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 2/65 สะท้อนการฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องเช่นกัน ด้านหนี้สินครัวเรือนขยายตัวชะลอลง แต่ความสามารถในการชำระหนี้ยังทรงตัว

สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 2/65 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.0 ล้านคน ขยายตัว 3.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัว 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสาขาการผลิต สาขาขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้าที่ขยายตัวได้ 6.1% 12.1% และ 4.9% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี

ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร โดยการจ้างงานหดตัว 5.4% และ 2.6% ตามลำดับ ซึ่งการจ้างงานที่ชะลอตัวในสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคารการจ้างงานปรับตัวลดลง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว สำหรับภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 11.7 ล้านคน ลดลง 0.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมกลับไปทำงานในสาขาเดิมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในส่วนของชั่วโมงการทำงาน ปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงปกติ โดยภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.3 และ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 62 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสมือนว่างงานปรับตัวลดลงจาก 2.8 ล้านคนในไตรมาส 2/64 เหลือ 2.2 ล้านคน ในปัจจุบัน และผู้ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงสัปดาห์) มีจำนวน 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 2/65 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.37% ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะเดียวกัน การว่างงานยังปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่ม โดยผู้ว่างงานระยะยาว (ผู้ว่างงานนานกว่า 1 ปี) มีจำนวน 1.5 แสนคน ลดลง 1.2% จากไตรมาส 2/64 การว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงทุกระดับการศึกษา และอัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 2.17% ลดลงจาก 2.77% จากปีช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อแรงงาน โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะของแรงงานทักษะ, การขาดแคลนแรงงาน จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นและเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการหมดไฟในการทำงาน ปัจจุบันแรงงานทั่วโลกจำนวนมากเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงาน และลาออกจากงานมาก  ดังนั้น นายจ้าง/องค์กรต่างๆ ต้องการกระตุ้นให้มีโครงการที่สร้างสรรค์และออกแบบให้คนในองค์กรมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน

Back to top button