สสส. จ่อคืนชีพ “ภาษีความเค็ม” อาหารกึ่งสำเร็จรูป-แช่แข็ง-ขนมขบเคี้ยว โดน!

สสส.หารือร่วม “กรมสรรพสามิต” ทบทวน “ภาษีความเค็ม” ธุรกิจอาหารกึ่งสำเร็จรูป-แช่แข็ง-ขนมขบเคี้ยวอาจกระทบ ย้ำห่วงสุขภาพคนไทยและช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ


ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.และเครือข่าย สนับสนุนให้ประชาชนตระหนักเรื่องลดการบริโภคเค็ม โดยการดูฉลากโภชนาการข้างผลิตภัณฑ์ก่อนการบริโภค แม้ว่าสัดส่วนของการบริโภคเค็มในระยะนี้จะลดลง แต่ก็ยังสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้ คือ ไม่ควรบริโภคเกลือโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม แต่ปัจจุบันคนไทยยังรับประทานโซเดียมมากถึง 3,636 มิลลิกรัม โดยในปี 2568 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า สสส.ตั้งเป้าเรื่องการบริโภคเค็มของคนไทยไว้ว่าต้องลดลง 30%

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจากข่าวว่า สสส. เตรียมฟื้นเรื่องภาษีความเค็มเข้ามากำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งในส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื่องจากพบว่า เป็นสัดส่วนที่มีการบริโภคมาก และมีความเค็มสูง โดยจะมีการหารือกับกรมสรรพสามิตเพื่อทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง หลังจากมีการชะลอไปเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งหากปรับขึ้นจริงอาจจะส่งผล sentiment เชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไม่มากก็น้อย

อาทิเช่น บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ซึ่งธุรกิจหลักของบริษัทฯคือ ผลิตและจำหน่ายบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมปังกรอบ, บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว เช่น เยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่คาราจีแนน ภายใต้ตราสินค้าเจเล่ ปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้น ภายใต้ตราสินค้าเบนโตะ และขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่งภายใต้ตราสินค้าดอกบัว โลตัส เป็นต้น, บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่ายทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” และบริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องปรุงรสอาหาร ซอส ไส้ขนม และอาหารอบแห้ง

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายบริโภคลดเค็ม กล่าวว่า การขึ้นภาษีความเค็มหลังจากที่มีการขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปในราคา 1 บาทเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ได้เป็นการซ้ำเติมผู้บริโภค แต่จะเป็นการช่วยให้ผู้ผลิตอาหารตระหนักถึงการลดความเค็มในผลิตภัณฑ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย ในอนาคตหากมีการประกาศขึ้นภาษีความเค็มจริง อาจจะบังคับใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร 3 กลุ่ม ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นสำเร็จรูป และขนมกรุบกรอบ โดยจะไม่ประกาศและขึ้นโดยทันที แต่จะมีการบังคับใช้อีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผู้ผลิตมีเวลาปรับลดสูตรความเค็มลง ทำให้ผู้บริโภคค่อยๆ คุ้นชินกับความเค็มแต่ละระดับ

“ขณะนี้ยังไม่กำหนดเพดานสัดส่วนของภาษีอย่างชัดเจน แต่อาหารทุกประเภท ระดับความเค็มไม่เท่ากัน ต่อหน่วยการบริโภค ปัจจุบันจากการสำรวจอาหารที่มีระดับความเค็ม พบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบนำเข้าจากต่างประเทศ มีความเค็ม มีค่าโซเดียม มากกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย พร้อมเตรียมเรียกร้องให้ อย. กำหนดให้ซุปก้อนที่ต้องมีฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคทราบถึงเกลือที่แฝงอยู่ในรูปแบบของเครื่องปรุงรสที่มีอันตรายมาก” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

Back to top button