DITTO เซ็น “กรมทรัพยากรทางทะเลฯ” ร่วมปลูกป่าชายเลนหวังคาร์บอนเครดิต

DITTO ลงนามร่วมกับ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เข้าโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ประจำปี 65 จำนวน 11,448.30 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี มุ่งเป้า Net Zero


บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ระบุว่า ทางบริษัทฯ ได้ทำการลงนามเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ประจำปี พ.ศ. 2565 กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยได้รับจัดสรรพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประจำปี 2565 จำนวน 11,448.30 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี ตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนของประเทศไทย มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการประชุม COP 26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

โดยโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าบริษัทย่อยจะได้รับการจัดสรรคาร์บอนเครดิตจากโครงการดังกล่าวในสัดส่วนร้อยละ 90 และจัดสรรให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในสัดส่วนร้อยละ 10 ซึ่งบริษัทจะทำการแจ้งความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DITTO เปิดเผยว่า บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) โดย บริษัท สยาม ทีซี.เทคโนโลยี จำกัด ได้ทำการลงนามเข้าร่วมโครงการพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ประจำปี 2565 จำนวน 11,445.81ไร่ กับกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้มีระยะเวลาในการดูแลรักษาป่า 30 ปี เพื่อตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนของประเทศไทย มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน( Carbon Neutrality)ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero Emission)ในปีค.ศ.2065 ตามเจตจำนงที่ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา

โดยโครงการมีเงื่อนไขว่าผู้พัฒนาโครงการในที่นี้ คือ  บ.สยามทีซี.เทคโนโลยีจะได้รับการจัดสรรคาร์บอนเครดิตจากโครงการดังกล่าวในสัดส่วน ร้อยละ90 และจัดสรรให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร้อยละ 10

นายฐกร กล่าวต่อไปอีกว่า สาเหตุที่ทาง ดิทโต้เลือกปลูกป่าชายเลน เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการที่ได้จากผลการศึกษาพบว่าป่าชายเลนสามารถดูดซับ คาร์บอน เครดิตได้ 8-10ตันต่อไร่ต่อปี ขณะเดียวกัน บริษัทเอกชนที่ส่งสินค้าออกไปยังตลาดยุโรปจะได้รับผลกระทบจากระเบียบ CBAM (Carbon Border Adjustment Machanism)ที่ทางยุโรปบังคับใช้จะส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายจากการที่ทางยุโรปเรียกเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน ถึงตอนนั้นเอกชนไทยต้องซื้อมาชดเชยหากลดในกระบวนการอื่นแล้วยังมีส่วนที่ปล่อยเกิน

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับอนุมัตินั้น ถือเป็นการได้มาซึ่งสิทธิในการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าชายเลนให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 30 ปี ฉะนั้นในพื้นที่ตรงนี้ผู้ที่ได้รับอนุมัติโครงการไม่มีสิทธิ ไปล้อมรั้วหรือไปปิดกั้นคนในชุมชน ในทางกลับกันคนในชุมชนทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ สามารถเข้ามาทำเกษตรกรรม ทำประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำได้เหมือนเดิม ทางบริษัทมีหน้าที่แค่การดูแลรักษาป่าชายเลนให้มีทัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ขึ้นเพื่อประโยชน์ของชุมชนต่อไป

“ขณะนี้ทางบริษัทพร้อมเต็มที่ และเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีจะเป็น New S-Curve ต่อไป ประกอบกับ ดิทโต้ เองสนใจที่จะเข้าไปสู่กรีนเทคฯ อยู่แล้ว จึงได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมริเริ่มนโยบายดังนั้น เราจึงพร้อมทั้งในเรื่องของเงินลงทุน บุคลากร เทคโนโลยี อันที่จริงเราได้เตรียมพร้อมสำหรับการปลูกป่า 1แสนไร่ เมื่อได้รับอนุมัติมาหมื่นกว่าไร่จึงไม่ใช่เรื่องยาก” นายฐกร กล่าวทิ้งท้าย

ด้านบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง วิเคราะห์ว่า หาก DITTO เริ่มดำเนินโครงการในปี 2023 จะใช้เวลา 3 ปีที่จะเริ่มรับรู้คาร์บอนเครดิตในปี 2026 โดยคาดเงินลงทุนเริ่มต้นในปีแรกจะอยู่ที่ราว 160-170 ล้านบาท และค่าดูแลรักษาตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปจะอยู่ที่ 30 ล้านบาท/ปี  ตั้งแต่ปี 2026 คาด DITTO จะได้รับคาร์บอนเครดิตต่อปีอยู่ที่ราว 1 แสนตัน/ปี (สัดส่วน 90%)

ราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังไม่ได้มีการซื้อขายที่แพร่หลายมากนัก แต่หากอิงจากตลาดในต่างประเทศอย่างยุโรปราคาตอนนี้อยู่ที่ราว 70 ยูโร หรือ 2,600 บาท ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 15-20 ยูโร และเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 100 ยูโรในช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา หากประเมินจากราคาที่ 70 ยูโรจะสามารถสร้างกำไรในปี 2569 ได้ราว 230 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดที่ลงทุนไปใน 3 ปีแรก และจะสร้างกำไรอย่างต่อเนื่องไปอีก 26 ปีที่เหลือ

ปัจจุบันกำไรของ DITTO อยู่ที่ราว 300-400 ล้านบาท/ปี นั่นหมายความว่ากำไรจากธุรกิจคาร์บอนเครดิตจะสร้างกำไรส่วนเพิ่มได้มากกว่า 50% ต่อปีให้กับ DITTO ถึงแม้ว่าราคา Carbon credit ในตลาดไทยกับต่างประเทศยังต่างกันมาก แต่เมื่อกฏหมายต่างๆ มีผลบังคับใช้มากขึ้น (สรรพสามิตรกำลังศึกษาการเก็บภาษีคาร์บอนเครดิตในประเทศ) ราคาที่แตกต่างกันของคู่ค้าจะวิ่งเข้าหาจุดสมดุล (เสียภาษีที่ไทยน้อยก็ต้องไปเสียอีกต่อที่ต่างประเทศอยู่ดี ถ้าอัตราภาษีที่จะเก็บต่างกัน)

หลังจากที่มาตรการผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศถูกนำมาบังคับใช้มากขึ้น เช่น CBAM จากยุโรปที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค. 2569 (การบังคับใช้ภาษีคาร์บอนกับประเทศคู่ค้าสำหรับการส่งออก/นำเข้า) จะยิ่งทำให้ Demand ของ Carbon credit ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ (Supply ด้านสิ่งแวดล้อมจำกัด) ท้ายที่สุดราคาของ Carbon credit น่าจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน โดยราคาที่เพิ่มขึ้นจะวิ่งลงสู่กำไรของ DITTO ทันทีเนื่องจากต้นทุนทั้งหมดเป็นต้นทุนคงที่

บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงมองว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจใหม่ของ DITTO โอกาสที่จะเพิ่มกำไรในอนาคตมีมากถึง 50% ต่อปี และยังเป็นรายได้และกำไรที่เกิดขึ้นประจำอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” โดยอยู่ระหว่างการทบทวนราคาเป้าหมาย

Back to top button