จับตา! แผนคว่ำ “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” พิธา แฉรัฐออกกฎหวังสกัด “ผลิตเสรี”

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกต ครม.อนุมัติแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับการผลิตสุรา หวังใช้เป็นเครื่องมือล้มร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่สภาฯ เตรียมโหวตวาระ 2-3 วันนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ กฎกระทรวง เรื่อง การผลิตสุรา พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 153 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 โดยกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไปนั้น

ล่าสุด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การแก้กฎกระทรวงการผลิตสุราก่อนหน้าการลงมติเพียง 1 วัน คือความจงใจใช้เป็นข้ออ้างล้ม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 ในสภาวันนี้ (2 พ.ย. 65)  ซึ่งแนวโน้มของกฎหมายนี้คือ “ผ่าน” แต่อยู่ดีๆ ครม.กลับมีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา ออกมาก่อนที่จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เพียง 1 วัน

สำหรับกฎหมายสุราก้าวหน้า  นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ทำงานมาแล้ว 6 ปี และเมื่อได้เข้าสู่สภาก็ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้กฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือถึงกรมสรรพสามิต การผลักดันผ่านกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ และความพยายามทั้งในที่แจ้ง และทางลับอื่นๆ เพื่อผลักดันให้กฎกระทรวงมีการแก้ไข คู่ขนานไปกับการผลักดันแก้กฎหมายผ่านสภาซึ่งกว่าจะถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระต้องใช้เวลาอันยาวนาน  แต่สิ่งที่เราได้รับจากรัฐบาลและฝ่ายบริหารมีแต่ความเงียบ

ถ้ารัฐมีความพยายามผลักดันแก้กฎกระทรวงเร็วกว่านี้สัก 4 ปี ตรอาจจะชื่นชม แต่การออกกฎกระทรวงตัดหน้าการลงมติ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ทำให้ตีความเจตนาของรัฐบาลเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการคว่ำกฎหมายสุราก้าวหน้าที่พรรคก้าวไกลเสนอ

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำตรงนี้ก็คือ กฎกระทรวงที่รัฐบาลออกมา “ไม่ใช่การปลดล็อกธุรกิจสุราให้เป็นของประชาชน” แต่เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ที่ยังมีผลในการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ว่าจะเป็น

  • ยังคงเพดานไม่ให้ผลิต “เพื่อการค้า” หรือผลิตมากกว่า 200 ลิตรต่อปี แต่ไม่ว่าจะผลิตเพื่อการค้าหรือไม่ ก็ต้อง “ขออนุญาต” จากกรมสรรพสามิต ทั้งๆ ที่ในกฎหมายสุราก้าวหน้า เพียงแค่ “จดแจ้ง”
  • ใครที่ต้องการผลิตเพื่อการค้า ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วน
  • ต้องมีกำลังการผลิต 5 แรงม้า คนงาน 7 คน ให้ครบ 1 ปี ก่อน ถึงจะขยับขยายไปผลิต 50 แรงม้าได้
  • โรงเบียร์ที่ทำการขาย ณ สถานที่ผลิต หรือ Brewpub ต้องมีใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม
  • ผู้ประกอบการที่ต้องการขายแบบบรรจุขวด ต้องผ่านการทำ EIA ซึ่งต้นทุนในการทำสูงมาก 3-5 ล้านบาท
  • การผลิตสุรากลั่นชนิดพิเศษ วิสกี้ ยิน บรั่นดี ยังคงกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อปี สุรากลั่นอื่นยังคงต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 90,000 ลิตรต่อปี และต้องมีใบอนุญาตโรงงาน

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชน และ ส.ส.อย่าไปหลงเชื่อวาทกรรมที่รัฐบาลพูด ที่บอกว่าเมื่อมีการแก้ไขกฎกระทรวงแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายสุราก้าวหน้า เพราะในความเป็นจริงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ถูกร่างขึ้นมา เพื่อเป็นข้อจำกัดไม่ให้มีการปลดล็อกการผลิตอย่างแท้จริง

Back to top button