“ตลท.” จับมือพันธมิตรเพิ่ม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ผ่านศูนย์ซื้อขาย TDX

“ตลท.” เล็งเพิ่ม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “Roadmap สู่การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ในงาน SET in the city 2022 ว่า ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีมูลค่า 91.67 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหุ้นทั่วโลกมีมูลค่า 92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และตลาดทองคำ 10.93 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) มีมูลค่าราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเหรียญที่ซื้อขายกันอยู่ทั้งหมดราว 9,426 เหรียญ ปริมาณการซื้อขายราว 54,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/วัน โดยที่การซื้อขายมากที่สุดอยู่ในกลุ่มสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และเป็นการซื้อขายจำนวนมากในบิตคอยน์ (Bitcoin) หรือ BTC คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของตลาด และ Ethereum (ETH) คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ที่เหลือคือเหรียญอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กลงไป

โดยปัจจุบัน Digital Asset แบ่งออกเป็น

1.สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ (Central Bank Digital Currency) ที่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการใช้งานแบบจริงจังมากนัก โดยในประเทศไทยได้มีโครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำร่วมกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ชื่อว่าโครงการอินทนนท์ เพื่อใช้สกุลเงินดิจิทัลเพื่อโอนเงินระหว่างสถาบันทางการเงิน

2) Private digital currencies ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ Stable Coin สกุลเงินดิจิทัลประเภทที่อิงกับสินทรัพย์หรือเงินตราเพื่อให้มูลค่าผันผวนน้อยลง และ Blank Coin สกุลเงินดิจิทัลประเภทที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการลงทุนด้วยการเข้ามามองว่าการปรับตัวขึ้นและลงของราคาเป็นอย่างไร โดยส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไรโดยตรง

2.โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (investment token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและ บริการหรือสิทธิอื่นๆ (utility token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออก

สำหรับการปรับตัวในปัจจุบันของ ตลท. ที่ดำเนินการในรูปแบบของสินทรัพย์พื้นฐาน (Traditional Assets) ไปยัง Digital Asset คือ การปรับรูปแบบจากตลาดในปัจจุบันที่สามารถรองรับความต้องการของนักลงทุนและผู้ระดมทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ลดการใช้กระดาษ (Paperless) ให้มากที่สุด ทำให้นักลงทุนและผู้ระดมทุนได้รับความสะดวกมากที่สุด ซึ่ง ตลท. ได้มีการพัฒนาไปยังรูปแบบ Hybrid ที่มีการซื้อขายเป็นหน่วยย่อย (Fractional Trading) ในสินทรัพย์ต่างประเทศด้วยเงินเป็นบาทบาทผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย (บล.) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงของนักลงทุน รวมไปถึงการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups

ขณะที่ปัจจุบัน ตลท. ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ต.ล.) ให้เปิด บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX) เพื่อเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ซึ่งในอนาคตจะสามารถระดมทุนผ่านการออกสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ และเข้ามาซื้อขายใน TDX ได้ โดยปัจจุบันได้เริ่มทำงานร่วมกับพันธมิตรในการที่จะออกผลิตภัณฑ์แล้ว

นายภากร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดของ SET อยู่ที่ 19.3 ล้านล้านบาท และ mai อยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท โดยในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 66 – 75) มองว่าการระดมทุนในรูปแบบ Traditional จะยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สามารถระดมทุนได้จำนวนมาก สำหรับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ และ บันทึกภาษี สามารถเข้าระดมทุนได้ง่าย ซึ่งตลาดหุ้นไทยถือว่ามีสภาพคล่องค่อนข้างสูง จึงเชื่อว่าทั้ง SET, mai และ LiVEx จะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ตลาด Digital Asset ก็จะมีการเติบโตขึ้นจากการระดมทุนของบริษัทใหม่ๆ ที่มีโอกาสในการเติบโต แต่มีความเสี่ยงสูง และ ยังไม่บันทึกภาษี สามารถเข้ามาระดมทุนได้ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่เพิ่มเติมจากการระดมทุนในแบบเดิม

Back to top button