MINT วอน “บิ๊กตู่” ปลดล็อกโรงแรม “เก็บค่าเข้าพัก-จองออนไลน์” ช่วยพยุงธุรกิจท่องเที่ยว

MINT ส่งจดหมายขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในการปรับปรุงกฎข้อบังคับโรงแรมต่างๆ โดยเก็บค่าเข้าธรรมเนียมห้องพักและจองออนไลน์ จะช่วยพยุงภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ได้


วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ  บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ก่อนอื่นผมใคร่ขอแสดงความชื่นชมรัฐบาลสำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เป้าหมายที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 10 ล้านคนในปี 2565 เป็นจำนวนที่สูงกว่าปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 ถือว่าเป็นสัดส่วนเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น และคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยว 18 ล้านคนในปี 2566 ก็เป็นเพียงร้อยละ 45 ของจำนวนนักท่องเที่ยว

โดยในช่วงก่อนโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าปกติทำให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องพึ่งเงินทุนสำรองเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาวัตถุดิบ ค่าแรง ราคาพลังงานและราคาน้ำมันขยับขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง

ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวในประเทศไทย ผมใคร่ขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากรัฐบาลในการปรับปรุงกฎข้อบังคับต่างๆ ที่จะช่วยพยุงภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวให้ยังคงดำเนินอยู่ได้ในภาวะการประกอบธุรกิจที่ท้าทาย ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าปกติและราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ผมจึงขอนำเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเร่งการฟื้นตัวของภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวให้ท่านพิจารณา ดังต่อไปนี้

1.กำหนดข้อบังคับชั่วคราวขอให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าพักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในอัตราคงที่ที่ 300 บาทต่อห้องต่อคืน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

2.อนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถแบ่งชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 3 งวดได้โดยไม่มีดอกเบี้ยหรือค่าปรับในกรณีมีการชำระล่าช้า

3.ขยายระยะเวลาการใช้ผลขาดทุนสะสมทางภาษี (Tax losses carried forward) ของผู้ประกอบการโรงแรมจาก 5 ปีเป็น 10 ปี

4.สร้างการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมไทยในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติที่มีเงินทุนสูงกว่าอย่าง AirBnb และแพลตฟอร์มสำหรับจองโรงแรมออนไลน์ (Online Travel Agents หรือ OTA) ผู้ประกอบการ AirBnb

4.1 ธุรกิจของ AirBnb สร้างกำไรจากการที่เจ้าของบ้านหรือที่พักอาศัยเปิดให้เช่าที่พักของตน ดังนั้น ห้องพักที่เปิดให้เช่าควรมีจำกัดเพียง 2-3 ห้องเท่านั้น มิใช่มีจำนวนให้เช่ามากถึง 20-30 ห้อง หากผู้ให้เช่ามีห้องพักให้เช่าเป็นจำนวนมาก ควรต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนเข้าพัก มาตรฐานการให้บริการ การเก็บภาษีและการจดภาษีมูลค่าเพิ่มในการประกอบธุรกิจโรงแรม

ทั้งนี้หากไม่มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและชื่อเสียงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ ดังนั้น การกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการเช่าห้องพักรายย่อยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

4.2 เจ้าของที่พักในการปล่อยเช่าใน AirBnb ของประเทศไทยควรมีสัญชาติไทยเท่านั้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยและมีการเสียภาษีที่ถูกต้อง ข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการป้องกันการฟอกเงินและการหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย

แพลตฟอร์มสำหรับจองโรงแรมออนไลน์ (OTA)

4.4 สัญญาผูกมัดที่สร้างข้อจำกัดให้ผู้ประกอบการโรงแรมด้านการตั้งราคาห้องพัก (rate-parity) ควรถือเป็นข้อจำกัดที่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมนี, เบลเยี่ยม และออสเตรียได้บังคับใช้ เนื่องจากก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์

นอกจากนี้ ยังต้องบังคับการจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์จากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการนำภาษีดังกล่าวมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย

5.คงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์เดิมในเรื่องการขึ้นทะเบียนและการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมสำหรับกิจการที่พักอาศัยที่มีจำนวนห้องพักขายมากกว่าสี่ห้อง เนื่องจากสถานประกอบการเหล่านั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฏข้อบังคับ เพื่อเพิ่มมาตรฐานโดยรวมของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย

6.เน้นให้มีการสื่อสารในระดับนานาชาติและจัดทำแคมเปญประชาสัมพันธ์ประกาศการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และการยกเลิกข้อบังคับทุกข้อในการเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา

7.อำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ โดยลดความแออัดและล่าช้าในการผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน และอนุญาตให้ชาวต่างชาติพานักอยู่ในประเทศได้ในระยะสั้นโดยไม่ต้องมีวีซ่า เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ

8.ยกเว้นหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องวีซ่าสำหรับพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Remote professionals)

9.อนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถจ้างแรงงานต่างด้าวจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆได้ และมีการออกใบอนุญาตทำงานให้แรงงานเหล่านี้ในสายงานอื่นๆ นอกเหนือจากงานก่อสร้างและงานแม่บ้าน รวมถึงการปรับลดค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานจากประเทศที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีอย่างประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียจาก 35,000 บาทเป็น 25,000 บาทต่อเดือน เพื่อแก้วิกฤตการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย

ทั้งนี้จากปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจ การปรับเปลี่ยนข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตลอดจนการสนับสนุนอื่นๆ จากรัฐบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ได้ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และยังช่วยลดความจำเป็นในการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล ในกรณีที่ผู้ประกอบการประสบวิกฤติทางการเงินในอนาคตอีกด้วย

สำหรับบริษัทมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้การนำของท่าน ประเทศไทยจะยังสามารถคงไว้ซึ่งการเป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศทั่วโลกได้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือหรือปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับรัฐบาล ผมพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมของรัฐบาลที่จะช่วยนำพาภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมายืนได้อย่างแข็งแกร่งในเร็ววันอีกครั้ง

Back to top button