BGRIM ลุ้นรายได้ Q4 สดใส รับค่า Ft พุ่ง – ซีโอดีโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ลุ้น BGRIM โชว์งบไตรมาส 4 สดใส ขานรับค่า Ft ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายปี นอกจากนี้ยังมีการเติบโตจากการจ่ายไฟเข้าระบบที่เพิ่มขึ้นสนับสนุนรายได้โตต่อเนื่อง


นางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 30 พ.ย.65 ว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 3 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 57% มาที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยให้แก่ กฟผ. ที่เพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ และค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น

รวมถึงการฟื้นตัวของปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศเวียดนาม จากการล็อกดาวน์ประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังมีการเติบโตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ด้วย

สำหรับแผนขยายกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าปีนี้จะเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเป็นไปตามแผน ล่าสุดบริษัทลงทุนถือหุ้น 49% ใน Lohas ECE Spain Gifu Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์ม กําลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีโครงการใหม่ ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะปิดดีลเร็ว ๆ นี้ได้ประมาณ 100 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการศึกษาอีกประมาณ 300-400 เมกะวัตต์

ส่วนแผนขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ล่าสุดบริษัทได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้ากับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ฟาร์มร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery storage) ซึ่งต้องรอประกาศผลจากทางกกพ.ต่อไป

นอกจากนี้ แผนการเติบโตของบริษัท มีความมั่นใจในการเตรียมความพร้อมด้านการเงินและการรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการบริหารจัดการทางการเงินที่เหมาะสมในส่วนของหนี้สินและส่วนทุน ควบคู่ไปกับการเติบโตสู่เป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

โดยก่อนหน้านี้ ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM เปิดเผยว่า ส่วนปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าของบี.กริม เพาเวอร์ คือ การปรับขึ้นของค่า Ft โดยในเดือนก.ย.-ธ.ค.65 กกพ.ได้ประกาศปรับขึ้นอีก 0.6866 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง บวกกับการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ ในพอร์ตการลงทุน การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง การขยายฐานลูกค้า IU อย่างต่อเนื่อง และการควบคุมค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้ร่วมกับ แอร์ ลิควิด (ประเทศไทย) ลงนามสัญญาซื้อขายการรับรองสิทธิพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ซึ่งข้อตกลงของการรับรองดังกล่าว นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสนับสนุนรูปแบบการจัดหาพลังงานอย่างยั่งยืน สำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีนี้มีอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP 4 โครงการ (ABP1R, ABP2R และ BGPM1&2R) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม กำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 560 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 91-98% มีกำหนดการ COD ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่อีก 2 โครงการ (BGPAT2 และ BGPAT3) กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 280 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 48-66% มีกำหนดการ COD ในปี 2566 และการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน อู่ตะเภา เฟสแรก มีความคืบหน้า 78% มีกำหนดการ COD ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566

อีกทั้งวานนี้ บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด บริษัทย่อยของ BGRIM (ถือหุ้น 50.7%) ประกาศเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 (ABP1R) กำลังการผลิตติดตั้ง 140 เมกะวัตต์ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.65

 

Back to top button